• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ทช. จับมือหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดภาวะโลกร้อน ขานรับนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 เมษายน 2566

มูลนิธิคนสร้างป่า ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4010 สมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติ และจังหวัดสมุทรสาคร จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดภาวะโลกร้อน ในพื้นที่ป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางป่าชายเลนบริเวณดังกล่าวให้กลับมามีสภาพพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถเป็นพื้นที่ฟอกปอดและส่งเสริมอาชีพให้แก่ชุมชน ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ทางรัฐบาลมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าชายเลน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ได้มีการกำหนดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าชายเลน จำนวน 2 ป่า คือ ป่าอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันออก อยู่ในท้องที่ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร และป่าอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันตก อยู่ในท้องที่ตำบลนาโคก ตำบลกาหลง ตำบลบางโทรัด ตำบลบ้านบ่อ ตำบลบางกระเจ้า และตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง สมุทรสาคร

ปัจจุบันป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 2 ป่า พื้นที่ส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นทะเล เนื่องจาก คลื่นลม และกระแสน้ำที่พัดเข้าหาฝั่งอย่างรุนแรงเป็นเวลานานๆ ทำให้พื้นที่ป่าชายเลน ถูกทำลาย มีสภาพป่าเหลืออยู่บ้างเพียงจำนวนน้อย มีลักษณะเป็นหย่อมๆ บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันตก สำหรับศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (สมุทรสาคร) เป็นศูนย์ที่ดูแลผืนป่าชายเลนของสมุทรสาคร เรียกกันว่า ป่าชายเลนอ่าวมหาชัย เป็นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณน้ำกร่อยของปากแม่น้ำท่าจีน มีอิทธิพลของกระแสน้ำทะเลที่นำเอาโคนเลนมาทับถมทำให้เกิดหาดเลนยาวตลอดแนวชายฝั่ง จึงเกิดสภาพเป็นป่าชายเลน มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นจุดที่นักดูนกนิยมมาดูนกชายเลน โดยมีเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 300 เมตร เพื่อชมป่าโกงกางและสัตว์ชายเลนประเภทต่างๆ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้หรือห้องเรียนทางธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

การจัดกิจกรรมดังกล่าว นับเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ที่คอยช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งผลิตป่าชายเลนคาร์บอนเครดิต อีกทั้งสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.