• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน ยืนยัน การจัดสรรน้ำหน้าแล้ง เป็นไปตามแผนไม่ขาดแคลน พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปีนี้ ย้ำปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการรับมือปรากฎการณ์เอลนีโญ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 พฤษภาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วงแล้งปี 2565/66 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 30 เมษายน 2566 ไว้ทั้งสิ้น 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ภายใต้มาตรการหน้าแล้งปี 2565/66 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ปัจจุบันได้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พบว่าการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 25,200 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 9,120 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ในเขตพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้

ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 พบว่าทั้งประเทศมีการเพาะปลูกรวม 10 ล้านไร่ สำหรับในช่วงฤดูฝนปีนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 และมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2566 ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 ของกอนช. รวมทั้งเตรียมรับมืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า กำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนไว้ล่วงหน้า ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาอีกด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.