• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมประมงออกประกาศฉบับใหม่ ฤดูน้ำแดง 2566 คุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ เริ่ม 16 พฤษภาคมนี้

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 พฤษภาคม 2566

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ ด้วยการกำหนดให้ใช้เครื่องมือ วิธีการทำประมงที่ไม่เป็นการทำลายพันธุ์ทรัพยากรสัตว์น้ำจืดและเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้จับสัตว์น้ำเพื่อการดำรงชีพให้สามารถจับสัตว์น้ำจืดในช่วงเวลาการบังคับใช้มาตรการทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีการฟื้นตัวและเกิดขึ้นใหม่เข้าทดแทนสัตว์น้ำเดิมที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ และดำรงอยู่อย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ประชาชนเช่นเดียวกับมาตรการปิดอ่าวของฝั่งทะเล

จากการติดตามประเมินผลมาตรการฤดูน้ำแดงในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (2564 – 2565) ที่ผ่านมาครอบคลุมพื้นที่ 20 ลุ่มน้ำ 49 จังหวัด 72 แหล่งน้ำ 126 จุดเก็บตัวอย่าง รวมตัวอย่างปลาทั้งหมด 175 ชนิด พบว่า ปลาส่วนใหญ่วางไข่เกือบทั้งปี โดยผลสำเร็จจากการออกประกาศฯ ที่ผ่านมา สามารถรักษาพ่อแม่พันธุ์ในภาพรวมของประเทศไทยได้มากถึงร้อยละ 59.9 ซึ่งปริมาณพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ มีความใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดมีโอกาสได้สืบพันธุ์วางไข่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับข้อมูลจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ลักษณะอากาศของประเทศไทยราย 3 เดือนปรากฎการณ์เอนโซ่ยังคงสภาวะเป็นลานีญา และปรากฎการณ์เอนโซ่จะเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ซึ่งจะทำให้ในช่วงมีนาคม - พฤษภาคม 2566 ปริมาณฝนและอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยจะใกล้เคียงค่าปกติ นั่นหมายถึงว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง และเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสัตว์น้ำ และระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ตามหลักการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง)

มาตรการฯ ฤดูน้ำแดง ยังคงกำหนดพื้นที่และระยะเวลา รวมถึงเครื่องมือที่ให้ใช้เป็นไปตามมาตรการเดิม โดยมีการเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้สามารถออกประกาศกำหนดพื้นที่ เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำการประมง เพื่อให้มีความเหมาะสมตามสภาพข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่ ระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง เงื่อนไขในการทำการประมง ประจำปี 2566 แบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ ในส่วนของเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้อาทิ เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่ 3 เครื่องมือขึ้นไป รวมถึงแหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร) เป็นต้น

กรณีที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ประกาศกำหนดมาตรการอนุรักษ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยห้ามทำการประมงที่ใช้เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใด ตามวรรคหนึ่ง 1 – 5 ให้ถือปฏิบัติตามประกาศนั้นด้วยหากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.