สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 10 พฤษภาคม 2566
นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญในปี 2566 ว่า จากปัจจัยสำคัญของปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากตั้งแต่ปี 2565 ช่วงเดือนกันยายน ที่มีพายุโนรู เข้ามาประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีมากกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเพาะปลูก มีน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูก มีเพียงพอ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา อีกทั้งสินค้าเกษตรบางชนิด มีโครงการส่งเสริมการปลูกคุณภาพโดยการผลิตนอกฤดูเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น
จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ล่าสุดที่ประชุมได้พิจารณาและคาดการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดปีนี้เพิ่มขึ้น พบว่าข้าวนาปรัง คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ปาล์มน้ำมัน คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นเพราะราคาดี เกษตรกรมีการปลูกทดแทนยางพารา ขณะที่ยางพารา คาดว่าเนื้อที่ให้กรีดได้รวมทั้งประเทศประมาณท21 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.59 ด้าน ทุเรียนคาดว่าราคาทุเรียนที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงให้การบำรุงดูแลดีขึ้น ส่วนกุ้งขาวแวนนาไม ปีนี้ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ ตามการประกันราคาขั้นต่ำของคณะกรรมการบริหารห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ ช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ประกอบกับความต้องการบริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกุ้งกุลาดำที่ แนวโน้มของราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักที่เริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ประกอบกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีเที่ยวบินตรงมายังภูเก็ตเพิ่มขึ้น ปัญหาการขนส่งกุ้งกุลาดำมีชีวิตจากแหล่งผลิตภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงกุ้ง