สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 2 พฤษภาคม 2566
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำช่วงแล้งในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมการจัดสรรน้ำถือว่าเป็นไปตามแผนที่กรมชลประทานกำหนดไว้ ส่งผลให้กิจกรรมการใช้น้ำ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และยืนยันว่า กรมชลประทานจะมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วง 3 เดือน คือ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ จากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ กรมชลประทาน จึงได้เตรียมแผนรับมือตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง
ปัจจุบันกรมชลประทานได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกแล้ว และจะเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันก่อนน้ำหลากในช่วงกลางเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากอุทกภัย นอกจากนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ที่กรมชลประทานกำหนด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด