ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1064719
ภาพรวมนโยบายและกฎหมาย
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 30 เมษายน 2566
รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน จึงกำหนดนโยบาย กฎหมายและข้อบังคับจำนวนมากที่สอดคล้องกับทฤษฎีด้านสิ่งแวดล้อม
กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับหลัก
สิงคโปร์มีกฎหมาย Environmental Protection and Management Act : EPMA เป็นกฎหมายฉบับหลักที่ใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการจัดการปริมาณมลพิษทั้งทางน้ำทางอากาศและทางเสียง
เช่น กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องติดตั้งและจัดให้มีอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ กำหนดให้โรงงานต้องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และกำหนดควบคุมเรื่องเสียงจากการก่อสร้างไปจนถึงเสียงในสถานที่ทำงาน เป็นต้น
มาตรการอุดหนุนโดยภาครัฐ
ในแต่ละปี สิงคโปร์จะจัดทำนโยบายอุดหนุนภาคเอกชน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียวในการประกอบธุรกิจ (Green Technology Program) เช่น มาตรการจูงใจให้บริษัทพาณิชยนาวีในประเทศพัฒนาและนำเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้
ซึ่งหากสามารถลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ก๊าซไนตริกออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามที่กำหนด โครงการจะได้รับเงินร้อยละ 50 สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่ไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เป็นต้น
ได้เงินคืนหากใช้รถที่ลดมลพิษ
ภายใต้ระบบ Carbon Emissions-Based Vehicle Scheme : CEVS สิงคโปร์ได้สร้างระบบจูงใจสำหรับการใช้ยานพาหนะทุกประเภทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอัตราที่ต่ำ โดยรัฐจะให้เงินคืนสำหรับการใช้รถที่ประหยัดเชื้อเพลิงและมีอัตราการบริโภคน้ำมันต่ำ
ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้กำหนดให้ผู้ขายต้องจัดทำฉลากข้อมูลการปล่อยมลพิษของรถ (Fuel Economy Labelling scheme) เพื่อให้ผู้ซื้อได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ การให้เงินคืน จะอยู่ในรูปแบบของการลดหย่อนภาษี ค่าระวาง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถ
Singapore Green Plan 2030
มองไปข้างหน้า สิงคโปร์ได้จัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ 5 ด้าน ได้แก่
(1) การจัดสรรพื้นที่สีเขียวในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้โดยสะดวก
(2) ส่งเสริมการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โดยการใช้นวัตกรรมเพื่อให้เกิดการกลับมานำมาใช้ใหม่ของขยะทุกประเภท และบำบัดน้ำเสียอาจจริงทั้งภาคอุตสาหกรรมและเอกชน
(3) ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานจากแสงอาทิตย์ และสนับสนุนการวิจัยในด้านพลังงานทุกประเภท
(4) สร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเป็น Centre for Green Finance พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนด้านเทคโนโลยีที่รักษ์สิ่งแวดล้อม
(5) สร้างปราการสำหรับอนาคต เช่น เขื่อนป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง การให้สิ่งก่อสร้างใช้โทนสีอ่อนเพื่อลดการดูดซับของความร้อน เป็นต้น