• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 มกราคม 2567

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ (https://www.thansettakij.com/business/economy/586799)

โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย – อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ชุมพร – ระนอง มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท เมกะโปรเจกต์สำคัญของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” แม้จะยังไม่เป็นรูปร่าง เพราะมีแค่พิมพ์เขียวคือผลการศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจับตา นั่นคือความพยายามผลักดันออกมา และเร่งโปรโมทชักชวนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ยกคณะพื้นที่ไปยังจุดที่จะทำโครงการเป็นครั้งแรก บริเวณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ในช่วงการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจร โดยนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงเดินทางลงพื้นที่ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ในรอบ 20-30 ปีของประเทศไทย ที่จะนำความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ขณะเดียวกันในด้านของผลกระทบต่าง ๆ ทั้งเรื่องของวิถีชีวิตประชาชน และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลยอมรับว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม จะทำการศึกษาไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการจริง ต้องศึกษาเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ที่ผ่านมา มีรายงานผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร ตอนหนึ่งระบุถึงผลกระทบโครงการในมิติด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างน่าสนใจ โดยยอมรับว่า การดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะทรัพยากรทางน้ำ ทรัพยากรทางทะเล ทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงที่ดินในการดำเนินการโครงการเพราะเป็นทั้งพื้นของรัฐและพื้นที่ของประชาชนในพื้นที่โครงการ กมธ.แลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ทั้งผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชกรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำ และ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นประเด็นที่จะต้องมาพิจารณาหาแนวทางในการดำเนินการให้ดีที่สุดและสามารถหาแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาและหาทางออกด้วยกัน อาทิ การดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ในมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันที่เป็นรอยต่อทางชีวภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งของโลก และได้นำเสนอความเป็นมาของพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ที่เสนอเป็นมรดกโลก 6 แห่ง โดยการบริหารจัดการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ อุทยานแห่งชาติแหลมสน เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (บางส่วน) ขณะที่พื้นที่ที่บริหารจัดการโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑล ป่าชายเลน จังหวัดระนอง และพื้นที่แนวกันชน 3 กิโลเมตร โดยรอบพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน รวมพื้นที่ทั้งหมด 1,817,500 ไร่


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  26 มกราคม 2567

ที่มา : https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2024-17/

ในยุคปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) แนวคิดการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เหมือนตอนก่อนที่ป่าจะถูกทำลาย ได้รับความนิยมอย่างมากผ่านโครงการของภาครัฐและเอกชน โดยปรากฏออกมาในรูปแบบของโครงการอาสาต่างๆ

แต่หากเราติดตามและพิจารณาผลลัพธ์ของพื้นที่ป่าที่ผ่านโครงการปลูกป่าอย่างละเอียดรอบคอบ เราจะพบว่าพื้นที่สีเขียวมีปริมาณเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากต้นไม้ที่ถูกนำเข้าไปปลูกและเติบโตขึ้น แต่ระบบนิเวศบนพื้นที่แห่งนั้นอาจไม่ได้ฟื้นคืนกลับมาแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อกาลเวลาผ่านไป ป่าเหล่านั้นอาจกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมเพราะการสร้างป่าที่ผิดวิธี

การเร่งให้เกิดการฟื้นตัวตามธรรมชาติเป็นวิธีที่ยั่งยืนมากที่สุดจากการให้ธรรมชาติรักษาตัวเองเพียงแต่เราเข้าไปช่วยเร่งให้กระบวนการเหล่านี้เกิดได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมการเจริญเติบโตของกล้าไม้ที่มีอยู่ และทำให้เกิดกล้าไม้ในพื้นที่เยอะขึ้น หรือการอนุบาลต้นกล้าไม้ ให้ปลอดภัยจากสิ่งรบกวน อีกทั้งการสร้างที่อยู่อาศัยหรือแหล่งพักให้สัตว์กระจายเมล็ดพรรณอย่างนกให้เข้ามาในพื้นที่เพื่อเพิ่มโอกาสที่สูงขึ้นของการกระจายเมล็ดพรรณในธรรมชาติ


สำนักงานนโยบายและแผนทร้ัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  25 มกราคม 2566

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2757553

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จับมือ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ชวนชมไอเดียเปลี่ยน ขยะอาหาร เป็น “ความมั่นคงและยั่งยืน” เพื่อสร้างธุรกิจที่นำไปใช้ได้จริง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ขอเชิญเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน “เปลี่ยน Waste เป็น Wealth ด้วยไอเดียธุรกิจพร้อมเสิร์ฟจาก Food Waste“ พร้อมชมนิทรรศการ งานวิจัยการจัดการขยะอาหารจากนักวิจัยทั่วประเทศที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ทั้งนี้ พบกับหลากหลายไอเดียเพื่อสร้างธุรกิจจาก “ขยะอาหาร” ที่นำไปใช้ได้จริง พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมการจัดการขยะอาหารที่รวบรวมแนวทางการจัดการขยะอาหารไว้ครบครันในที่เดียว เข้าร่วมงานฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ท เวสต์ ห้องประชุม Classroom 1 – 3 ชั้น 2 ตั้งแต่เวลา 11.30 – 13.00 น.


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  24 มกราคม 2567

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ (https://www.thansettakij.com/business/economy/586561)

เศรษฐา สั่ง ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการแลนด์บริดจ์ บี้ one stop service ท่าเรือระนอง-เกาะสอง มอบ ก.ท่องเที่ยวฯ จัดประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยว 5 ประเทศ บูมท่องเที่ยวภูมิภาค

วันนี้ (23 มกราคม 2567) ที่จังหวัดระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า ได้สั่งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการแลนด์บริดจ์ ภายหลังรับหนังสือร้องเรียนจากฝ่ายที่ไม่เห็นชอบและจะมีการพูดคุยต่อไป

นายเศรษฐา กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติให้มีการปรับปรุงท่าเรือระนอง-เกาะสอง เพื่อให้รองรับนักท่องเที่ยวและการขนส่งให้ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาระบบ one stop service เพื่อให้ประชาชนและนักธุรกิจทำมาค้าขายได้สะดวกยิ่งขึ้น

นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวบ่อน้ำพุร้อนเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยังมีบางเรื่องที่ยังขาดอยู่ เช่น ประโยชน์ของน้ำพุร้อนมีสารอะไรบ้างที่ให้คุณประโยชน์กับร่างกาย จึงสั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำการบ้านเพิ่มเติม นายเศรษฐากล่าวว่า ได้เร่งรัดให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวของไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย โดยมีไทยเป็นผู้นำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  23 มกราคม 2567

ที่มา : https://www.thaipost.net/news-update/521396/

คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึง 146 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตันต่อปีขณะนี้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาขยะอาหารและอาหารส่วนเกินUN กำหนดให้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อปี 2558 กำหนดเป้าลดขยะอาหารในระดับค้าปลีกและบริโภคทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 สำหรับประเทศไทยพบว่า ตลาดสดมีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุด รองลงมา ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ และอาคารสำนักงาน ซึ่งสถานที่ที่กล่าวมามีศูนย์อาหารอยู่ด้วย

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ  และประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เห็นชอบแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ.2566 – 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นทิศทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศ เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันและลดขยะอาหาร จัดระบบคัดแยกขยะอาหาร ณ แหล่งกำเนิด จัดระบบกำจัดขยะอาหาร ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย สนับสนุนและผลักดันให้ประชาชนคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบคัดแยกและเก็บขนขยะแบบแยกประเภท


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  22 มกราคม 2566

ที่มา: https://www.prachachat.net/property/news-1480274

นางสาวศิวารยา ศรีติรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แซง-โกแบ็ง ประเทศไทย ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ยกระดับความท้าทายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศไทย – Elevate ambitions for a Sustainable Future, fostering positive change in Thailand’s construction industry” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อตอกย้ำการเป็นองค์กรที่มีแนวทางการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับสากล โดยมี นายเบอร์นัว บาร์แซง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม แซง-โกแบ็ง และผู้บริหารระดับประเทศที่เป็นพันธมิตรธุรกิจ ร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

จุดเน้นอยู่ที่นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนและระบบธุรกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมกันสร้าง และพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายก้าวสู่การเป็นผู้นำโซลูชั่นการก่อสร้างในรูปแบบ “Light and Sustainable Construction”

ทั้งนี้ แนวทาง Sustainability เป็นเป้าหมายที่สำคัญของกลุ่มบริษัทแซง-โกแบ็งมาโดยตลอด ภายใต้พันธกิจ Making the world a better home เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ กระบวนการผลิต ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) และการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง 10 ปีที่ผ่านมา

อาทิ การกำหนด Green Direction ให้สอดคล้องกับกฎบัตรด้านสิ่งแวดล้อม EHS เพื่อขับเคลื่อนสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 โดยกลุ่มบริษัทแซง-โกแบ็ง ได้ส่งเสริมบทบาทในการป้องกัน และบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน นักลงทุน ผู้กำหนดนโยบาย ลูกค้า ซัพพลายเออร์ องค์กรภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  21 มกราคม 2567

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ (https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_8057018/)

“พัชรวาท” กระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพจากชุมชน ส่งเสริม BEDO จับมือ ลาซาด้า ขยายช่องทางสู่ตลาดออนไลน์ หวังเพิ่มรายได้ให้เศรษฐกิจชุมชน

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภายใต้นโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งในระดับธุรกิจและระดับชุมชน มีการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าไปส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพทั่วประเทศ นำฐานทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นของตนเองมาใช้ประโยชน์ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้มาตรฐาน BEDO’s..Concept คือ 1) มีการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรชีวภาพของชุมชน  2) มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) นำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลับไปฟื้นฟู ดูแลรักษาแหล่งวัตถุดิบ หรือทรัพยากรชีวภาพของชุมชน เพื่อให้ทรัพยากรชีวภาพคงอยู่ และนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา BEDO ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพร่วมกับชุมชน จนได้รับเครื่องหมายรับรอง B-MARK ตามหลักการ BEDO’s Concept แล้วกว่า 115 รายการ ใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) อาหารและเครื่องดื่ม 2) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3) เครื่องสำอางและของใช้ส่วนตัว และ 4) ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สอย ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจาก การจัดจำหน่ายผ่านร้าน BIOVALUE..(ไบโอแวลู) ของ BEDO แล้ว ยังได้สร้างความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมอย่าง ลาซาด้า (Lazada) เพื่อเพิ่มช่องการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ให้กับประชาชนได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ได้อย่างสะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น โดยสามารถเข้าไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ซึ่งการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพภายใต้เครื่องหมายรับรอง B-MARK จะทำให้ชุมชนได้ประโยชน์ ทั้งในด้านการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เสริมความเข้มแข้งให้กับชุมชนยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นให้คงอยู่ เพื่อเป็นฐานทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  20 มกราคม 2567

ที่มา : https://www.kaohoon.com/news/649904

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบแร่ “ลิเธียม” จาก 2 แหล่ง มากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก อีกทั้งพบ“แร่โซเดียม” สำรองอีกจำนวนมาก ดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ “EV” ในภูมิภาค คาดดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้า ปี 67 พุ่งทะลุ 150,000 คัน

ประเทศไทยได้สำรวจพบ “แร่ลิเธียม” ที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม ทางภาคใต้ของประเทศไทยกว่า 14,800,000 ล้านตัน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบ “แร่ลิเธียม” มากที่สุดเป็นอันดับ 3ของโลก รองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา และล่าสุดไทยยังค้นพบแหล่ง “แร่โซเดียม” ในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก

ทั้งนี้แร่ทั้งสองชนิดนี้ ถือเป็นแร่หลักที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ (EV) ในภูมิภาคอีกด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.