• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 กุมภาพันธ์ 2567

นางสาวตริตาภรณ์ สนใจ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (2 ก.พ.67) ทุกพื้นที่ปรับตัวลดลงไม่พบสูงในระดับสีแดงแล้ว เนื่องจากอัตราการระบายอากาศดีขึ้น มีลมพัดแรง และอากาศเปิดช่วยลดการสะสมของฝุ่นในระดับใกล้ผิวพื้นลงได้ คาดการณ์จะดีต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ แต่ยังพบมีบางพื้นที่ยังเกินมาตรฐานในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง ริมถนนพหลโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร  ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ทั้งนี้ หลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์ต้องกลับมาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอีกครั้งฝุ่นละอองมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะจะเกิดความกดอากาศต่ำและลบสงบ

ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือค่าฝุ่นยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นบางพื้นที่ทางตอนล่างยังสูงในระดับสีส้ม ส่วนภาพรวมวันนี้พบจุดความร้อน (Hotspot) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 203 จุด เกิดจากการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่นาข้าว จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและควบคุมการเผาในพื้นที่โล่งซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง                  

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  1 กุมภาพันธ์ 2567

ที่มา https://ngthai.com/environment/53706/world-wetlands-day-rewilding/

วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day) และเมื่อเอ่ยถึงคำว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) เราก็มักนึกถึงพื้นที่เขียวขจีอันกว้างใหญ่ และเต็มไปด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลากหลายชนิด

อันที่จริงแล้วลักษณะของความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ใกล้กับเรามากกว่าที่คิด และหากใครยังนึกไม่ออกให้คิดถึงพื้นที่รกๆแฉะๆ ที่ไม่ไกลจากบ้าน พื้นที่ว่างซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สวนสาธารณะ ไร่ นา ฯลฯ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่แต่ก็มีองค์ประกอบของทั้งน้ำและดิน มีทั้งหญ้า ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อย่างแมลง สัตว์เลื้อยคลาน นก ฯลฯ

ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นจุดเชื่อมต่อนิเวศทางน้ำและบกเข้าหากัน เป็นแนวเชื่อมต่อตามธรรมชาติซึ่งความเป็นพื้นที่ซึ่งกระจายตัวไปตรงนั้นตรงนี้ มันสำคัญต่อพวกพืชและสัตว์ที่จะเดินทาง ใช้ชีวิต แพร่พันธุ์กันได้ เปรียบได้กับการเป็นบ้านของสัตว์ระหว่างทาง เช่น นกอพยพซึ่งต้องเดินทางไกลมาก พวกพื้นที่เหล่านี้จึงสำคัญมาก ยิ่งอยู่ในเขตเมืองซึ่งนับวันพื้นที่เช่นนี้เหลือน้อยก็ยิ่งให้ประโยชน์กับสัตว์ในการพักอาศัย

การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำในความหมายของการรื้อฟื้น ‘ป่าในเมือง’ จึงเป็นแนวทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และแน่นอนว่าคำว่าป่าไม่ใช่การยกป่าดงดิบเขียวชอุ่มมาไว้กลางเมืองใหญ่ แต่คือการฟื้นระบบนิเวศเดิมให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง สามารถทำได้ตั้งแต่ระดับหน่วยย่อยบุคคลหรือครอบครัว อาทิ การเลือกปลูกพืชพรรณท้องถิ่นไว้ในสวนหรือระเบียงบ้าน ก็ช่วยให้ระบบนิเวศดั้งเดิมของเมืองใหญ่ค่อยๆ ปรับสมดุลกลับมาเป็นที่พำนักอาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  31 มกราคม 2567

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1110844

นายพิเศษ ดิศวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลฝ่ายธุรกิจสิ่งแวดล้อม บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ มร.จู๊ด เชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AEL (International Holdings) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมี นายภัทร พจน์พานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ มร.สตีฟ ชวง ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) ให้เกียรติเป็นสักขีพยานภายในงาน “Thai – Hong Kong Business Forum” จัดโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และสมาคมการค้าไทย-ฮ่องกง (THKTA) ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

นายพิเศษเผยว่า บริษัทมองว่าขยะอาหาร (Food Waste) จากแหล่งต่าง ๆ อาทิ ฟู้ดคอร์ท ศูนย์อาหาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ มีจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน หากถูกนำไปกำจัดอย่างไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเพื่อไม่ให้ขยะอาหารถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า จึงนำมาสู่การผนึกความร่วมมือระหว่าง ล็อกซเล่ย์ และ AEL ในการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างยั่งยืน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  30 มกราคม 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2759105

ยังคงเป็นปัญหาที่หลายคนเคยเจอ เมื่ออยากช่วย “รักษ์โลก” ด้วยการเก็บ “ขยะรีไซเคิล” แต่ดันไม่รู้จะนำไปขายที่ไหน จนบางครั้งทำให้เกิดปัญหารกบ้าน หรือบางครอบครัวไม่มีรถใหญ่ที่จะขนขยะชิ้นใหญ่ๆ อาทิ เฟอร์นิเจอร์, เตียง, ที่นอน ไปขาย จนบางครั้งต้องยอมตัดใจทิ้งของเหล่านั้นไปเลยเพื่อจบปัญหา แม้แต่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต่างให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากทั้งในด้านของความสะดวกสบายในการใช้งาน การขนส่ง รวมไปถึงเรื่องดีไซน์ที่ออกแบบให้ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ขวดน้ำพลาสติก, กล่องนม, ถุงขนม ที่หลายคนซื้อมาแล้วทิ้งไปกลายเป็นขยะ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม PRO-Thailand Network หรือเครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน จับมือกับ เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป จัดโครงการ “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” ชวนคนไทยร่วมใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นง่ายๆ ในชีวิตประจำวันเพียงคัดแยก และส่งคืนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก PET..กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (MLP)..เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและส่งเสริมการรีไซเคิลในวงกว้าง  โครงการ “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” กับ PRO-Thailand Network เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2567 ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการโดยคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท ตามวิธีการแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากทางโครงการ และลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน Green2Get เลือกกิจกรรม “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” กับ PRO-Thailand Network เพิ่มวัสดุเข้าร่วมโครงการ พร้อมลุ้นรับรางวัล ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่ส่งมายังโครงการ จะถูกนำไปรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ถือเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของประเทศไทย


สำนักข่าว กรมปราะชาสัมพันธ์  29 มกราคม 2567

นายศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (29 ม.ค.67) ทุกพื้นที่ปรับตัวสูงขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากเกิดความกดอากาศต่ำ อัตราการระบายอากาศไม่ดี และลมสงบ โดยฝุ่นจะมีแนวโน้มสูงขึ้นช่วง 1-2 วันนี้ ทำให้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จากนั้นหลังวันที่ 31 มกราคมจะเริ่มดีขึ้น เพราะมีลมพัดแรงช่วยลดการสะสมของฝุ่นละอองลงได้

ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ค่าฝุ่นปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นจังหวัดตากค่าฝุ่นยังสูงในระดับสีส้ม ส่วนภาพรวมวันนี้พบจุดความร้อน (Hotspot) อยู่ที่ประมาณ 200 จุด ซึ่งยังพบการเผาในพื้นที่นาข้าวและพื้นที่ป่าสูงสุด จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและควบคุมการเผาในพื้นที่โล่งซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK 


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  28 มกราคม 2566

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1109632

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ 1/55 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 18-21 ม.ค. ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ซึ่งการประชุมครั้งนี้ อาเซียนเตรียมชูยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ ภายใต้สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียน โดยจะเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้ความเห็นชอบ ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 30 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 มี.ค. นี้ ณ แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว

สำหรับยุทธศาสตร์แรก เน้นเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเศรษฐกิจของภูมิภาคกับห่วงโซ่อุปทานโลก ผ่าน 4 โครงการ อาทิ เร่งรัดการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน ผลักดันความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และเตรียมการยกระดับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของอาเซียนให้พร้อมกับการค้ายุคใหม่ ขณะที่อีก 4 โครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ที่สอง จะช่วยนำร่องการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยอาเซียนจะปรับปรุงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ให้เป็นรูปแบบใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงแพลตฟอร์มทางการค้าใหม่ ๆ เข้ากับระบบปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความสะดวกทางการค้าให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน จะมี 6 โครงการ อาทิ การจัดทำแนวทางการลดผลกระทบการเผาซากพืชผลทางการเกษตรของอาเซียน และการจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะทางอากาศในภูมิภาค รวมทั้งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกด้วยการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนความคืบหน้าการเจรจาจัดทำ FTA ไทย – สหภาพยุโรป (อียู) รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 – 26 ม.ค. 2567 ณ กรุงเทพฯ จะมีการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ  เช่น การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า  การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ  การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน   โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติม สร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้น และจะหารือลงไปในรายละเอียดของแต่ละประเด็น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 มกราคม 2567

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ (https://www.thansettakij.com/business/economy/586799)

โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย – อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ชุมพร – ระนอง มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท เมกะโปรเจกต์สำคัญของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” แม้จะยังไม่เป็นรูปร่าง เพราะมีแค่พิมพ์เขียวคือผลการศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจับตา นั่นคือความพยายามผลักดันออกมา และเร่งโปรโมทชักชวนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ยกคณะพื้นที่ไปยังจุดที่จะทำโครงการเป็นครั้งแรก บริเวณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ในช่วงการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจร โดยนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงเดินทางลงพื้นที่ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ในรอบ 20-30 ปีของประเทศไทย ที่จะนำความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ขณะเดียวกันในด้านของผลกระทบต่าง ๆ ทั้งเรื่องของวิถีชีวิตประชาชน และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลยอมรับว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม จะทำการศึกษาไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการจริง ต้องศึกษาเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ที่ผ่านมา มีรายงานผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร ตอนหนึ่งระบุถึงผลกระทบโครงการในมิติด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างน่าสนใจ โดยยอมรับว่า การดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะทรัพยากรทางน้ำ ทรัพยากรทางทะเล ทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงที่ดินในการดำเนินการโครงการเพราะเป็นทั้งพื้นของรัฐและพื้นที่ของประชาชนในพื้นที่โครงการ กมธ.แลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ทั้งผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชกรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำ และ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นประเด็นที่จะต้องมาพิจารณาหาแนวทางในการดำเนินการให้ดีที่สุดและสามารถหาแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาและหาทางออกด้วยกัน อาทิ การดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ในมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันที่เป็นรอยต่อทางชีวภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งของโลก และได้นำเสนอความเป็นมาของพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ที่เสนอเป็นมรดกโลก 6 แห่ง โดยการบริหารจัดการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ อุทยานแห่งชาติแหลมสน เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (บางส่วน) ขณะที่พื้นที่ที่บริหารจัดการโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑล ป่าชายเลน จังหวัดระนอง และพื้นที่แนวกันชน 3 กิโลเมตร โดยรอบพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน รวมพื้นที่ทั้งหมด 1,817,500 ไร่


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  26 มกราคม 2567

ที่มา : https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2024-17/

ในยุคปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) แนวคิดการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เหมือนตอนก่อนที่ป่าจะถูกทำลาย ได้รับความนิยมอย่างมากผ่านโครงการของภาครัฐและเอกชน โดยปรากฏออกมาในรูปแบบของโครงการอาสาต่างๆ

แต่หากเราติดตามและพิจารณาผลลัพธ์ของพื้นที่ป่าที่ผ่านโครงการปลูกป่าอย่างละเอียดรอบคอบ เราจะพบว่าพื้นที่สีเขียวมีปริมาณเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากต้นไม้ที่ถูกนำเข้าไปปลูกและเติบโตขึ้น แต่ระบบนิเวศบนพื้นที่แห่งนั้นอาจไม่ได้ฟื้นคืนกลับมาแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อกาลเวลาผ่านไป ป่าเหล่านั้นอาจกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมเพราะการสร้างป่าที่ผิดวิธี

การเร่งให้เกิดการฟื้นตัวตามธรรมชาติเป็นวิธีที่ยั่งยืนมากที่สุดจากการให้ธรรมชาติรักษาตัวเองเพียงแต่เราเข้าไปช่วยเร่งให้กระบวนการเหล่านี้เกิดได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมการเจริญเติบโตของกล้าไม้ที่มีอยู่ และทำให้เกิดกล้าไม้ในพื้นที่เยอะขึ้น หรือการอนุบาลต้นกล้าไม้ ให้ปลอดภัยจากสิ่งรบกวน อีกทั้งการสร้างที่อยู่อาศัยหรือแหล่งพักให้สัตว์กระจายเมล็ดพรรณอย่างนกให้เข้ามาในพื้นที่เพื่อเพิ่มโอกาสที่สูงขึ้นของการกระจายเมล็ดพรรณในธรรมชาติ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.