• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ปี 2565

อบรมหลักสูตรอากาศยานไร้คนขับสำหรับการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

11 กรกฎาคม 2565 ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูมิสารสนเทศสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคกลางและภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการอบรมหลักสูตรอากาศยานไร้คนขับสำหรับการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร (UAV for Resource and Environmental Monitoring and Surveillance) โดยมี ผู้ช่วยอาจารย์ ศิรสิทธิ์ วงศ์วาสนา จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และทีมวิทยากร ร่วมให้ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถใช้แอปพลิเคชันในมือถือ เช่น DroneDeploy หรือ Pix4Dcapture เพื่อการวางแผนและการบินสำรวจข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถใช้โปรแกรม เช่น Pix4Dmapper, Agisoft Metashape หรือ WebODM เพื่อการประมวลผลข้อมูลภาพสำหรับการผลิต 3D Point Cloud, Digital Surface Model, Digital Terrain Model, Orthomosaic, Contour Lines หรือ 3D Textured Model สำหรับการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร เช่น การศึกษาและประเมินระบบนิเวศป่าไม้ หรือการสำรวจแหล่งอาหารของสัตว์ป่า โดยผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้ฝึกปฏิบัติการบินสำรวจและการประมวลผลข้อมูลทุกขั้นตอนด้วยตนเอง จนสามารถนำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานได้อย่างแท้จริง
การอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 -12 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมนิลกาญจน์ (2318) ชั้น 3 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยแบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในหัวข้อ อาทิ การประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศสำหรับการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร การใช้งานแอปพลิเคชันในมือถือสำหรับวางแผนการบิน การใช้งานแอปพลิเคชันในมือถือสำหรับบินสำรวจข้อมูลแบบอัตโนมัติ และการใช้ข้อมูลภาพอากาศยานไร้คนขับเพื่อการศึกษาและประเมินระบบนิเวศป่าไม้ เป็นต้น


คณะกรรมการตรวจประเมิน MU AUN-QA Assessment Tier 1 (ระดับส่วนงาน)

7 กรกฎาคม 2565 เวลา 08.50 น. รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะกรรมการวิชาการ คณาจารย์ และบุคลากรคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมต้อนรับคณะกรรมการตรวจประเมิน MU AUN-QA Assessment Tier 1 (ระดับส่วนงาน) จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.เชต ใจกัลยา ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจประเมินฯ รศ.ดร.ปาหนัน พิชยภิญโญ และ รศ.ดร.สุคนธา คงศีล เป็นคณะกรรมการ โดยการประเมินฯ จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 7 - 8 กรกฎาคม 2565 โดยมีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของคณะทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ จำนวน 4 หลักสูตรและหลักสูตรระดับปรัชญาดุษฏีบัณฑิต จำนวน 1 หลักสูตร เข้ารับการตรวจประเมินฯ


ศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
********************************
วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี พร้อมด้วยคุณกฤษณ์ ขาวบาง ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ให้การต้อนรับรองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมคณะ ในโอกาสนำคณะผู้บริหารและบุคลากร ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 42 ท่าน เข้าศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการองค์กร และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งเยี่ยมชมสถานที่โดยรอบวิทยาเขตกาญจนบุรี


อบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสำหรับการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสำหรับการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร (Geo-Informatics for Resource and Environmental Monitoring and Surveillance)
21 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสำหรับการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร (Geo-Informatics for Resource and Environmental Monitoring and Surveillance) โดยมี คุณธีรวุฒิ ชิยานนท์
นักวิชาการสารสนเทศภูมิศาสตร์ หน่วยภูมิสารสนเทศ เป็นวิทยากร จัดขึ้นโดย ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูมิสารสนเทศสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร และ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคกลางและภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรจากหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวน 33 คน ได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะผู้เรียนในการใช้แอปพลิเคชันในมือถือ เช่น ArcGIS Survey123, GeoODK Collect, QField หรือ Input สำหรับการสำรวจรวบรวมข้อมูลภาคสนาม (Ground survey) เพื่อการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เฉพาะแห่ง (Local scale) และสามารถนำข้อมูลจากการสำรวจไปเผยแพร่ในรูปของแผนที่บนเว็บไซต์ (Web map) เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างคุ้มค่าและเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยหลักสูตรนี้ จะเน้นการใช้ประโยชน์จากโปรแกรมและแอปพลิเคชันฟรีหรือรหัสเปิด เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติการติดตั้งและใช้งานโปรแกรมด้วยตนเอง และสามารถนำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานได้อย่างแท้จริง
โดยการอบรมแบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในหัวข้ออาทิ องค์ประกอบและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ กระบวนการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสำหรับการติดตามและเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร เทคโนโลยี Web map การสร้างความคุ้นเคยกับโปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (QGIS) และข้อมูลเชิงพื้นที่ และการแสดงข้อมูลแผนที่บนเว็บไซต์ (qgis2web) ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ GIS-LAB (3301) อาคารสารสนเทศผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร อ้วนอ่อน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ  คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำ

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ด้านทรัพยากรน้ำ ระหว่าง 2 หน่วยงาน
โดยมี นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ผู้รับมอบอำนาจจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2565 เวลา 13.30 ณ ห้องประชุมเมขลา ชั้น 11 อาคารกรมทรัพยากรน้ำ


นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ผู้รับมอบอำนาจจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการที่จัดทำขึ้นระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกรมและมหาวิทยาลัยในการสำรวจ การศึกษา การวิจัย รวมถึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรทั้งของกรมและมหาวิทยาลัยในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และความร่วมมือในการเข้าถึง การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำและทรัพยากรน้ำสาธารณะภายใต้กฎหมายและระเบียบที่กำหนด โดยคำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสำคัญ


โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป
มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายธีระชุณ บุญสิทธิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายกิตติ จันทร์ส่อง เลขานุการกรมทรัพยากรน้ำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ นี้ โดยพิธีลงนามฯ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมเมขลา ชั้น 11 อาคารกรมทรัพยากรน้ำ กรุงเทพมหานคร


การประชุมเชิงปฏิบัติการ FTP-WEBE Stakeholder Mapping Exercise

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Food and Agriculture Organization: FAO Regional Office for Asia and the Pacific – FAORAP) ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ FTP-WEBE Stakeholder Mapping Exercise
ในวันที่ 14 มิถุนายน 2565 มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Food and Agriculture Organization: FAO Regional Office for Asia and the Pacific – FAORAP) ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ FTP-WEBE Stakeholder Mapping Exercise ณ ห้องประชุมพยัคฆ์ไกรสีห์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “One Health Training for in-service Natural Resource Management and Environment Sector Professionals (forestry, wildlife, biodiversity & ecosystems) ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และได้รับเกียรติจาก Dr. Scott Newman (Senior Animal Health & Production Officer, FAORAP) พร้อมด้วย Dr. Carla Baker (Regional One Health Coordinator จาก FAORAP) และ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการฯ ในประเทศไทย เป็นวิทยากร
ในการนี้ ผศ.ดร.สพ.ญ.วลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบุคลากรจาก ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น สัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯ ดังกล่าว คณบดีฯ ยังได้รับเกียรติในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ ร่วมกับ Dr. Scott Newman และ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์
สำหรับโครงการฯ ดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างข้อมูลเครือข่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม และเพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม Field Training Program for Wildlife, Ecosystem, Biodiversity and Environment (FTP-WEBE) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ต่อไปในอนาคต
สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากองค์กรภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศ ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสมาคม Save Wildlife Thailand

© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.