มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Food and Agriculture Organization: FAO Regional Office for Asia and the Pacific – FAORAP) ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ FTP-WEBE Stakeholder Mapping Exercise
ในวันที่ 14 มิถุนายน 2565 มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Food and Agriculture Organization: FAO Regional Office for Asia and the Pacific – FAORAP) ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ FTP-WEBE Stakeholder Mapping Exercise ณ ห้องประชุมพยัคฆ์ไกรสีห์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “One Health Training for in-service Natural Resource Management and Environment Sector Professionals (forestry, wildlife, biodiversity & ecosystems) ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และได้รับเกียรติจาก Dr. Scott Newman (Senior Animal Health & Production Officer, FAORAP) พร้อมด้วย Dr. Carla Baker (Regional One Health Coordinator จาก FAORAP) และ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการฯ ในประเทศไทย เป็นวิทยากร
ในการนี้ ผศ.ดร.สพ.ญ.วลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบุคลากรจาก ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น สัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯ ดังกล่าว คณบดีฯ ยังได้รับเกียรติในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ ร่วมกับ Dr. Scott Newman และ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์
สำหรับโครงการฯ ดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างข้อมูลเครือข่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม และเพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม Field Training Program for Wildlife, Ecosystem, Biodiversity and Environment (FTP-WEBE) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ต่อไปในอนาคต
สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากองค์กรภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศ ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสมาคม Save Wildlife Thailand