• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 เมษายน 2565

ที่มา: https://www.nationtv.tv/news/378869292

ผลการศึกษาพบขยะพลาสติกที่มาตามแม่น้ำ อากาศ และการขนส่งทางเรือลอยถึงทุกพื้นที่ของอาร์กติกแล้ว โดยตรวจพบความหนาแน่นระดับสูงของไมโครพลาสติกในน้ำ พื้นทะเล ชายหาด แม่น้ำ หรือแม้แต่ในน้ำแข็งและหิมะ เมลานี เบิร์กแมนน์ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้คนยังคงคิดว่า อาร์กติกเป็นดินแดนรกร้างที่ส่วนใหญ่ยังไม่เคยถูกรุกล้ำ ทว่าการวิจัยโดยทีมงานจากนอร์เวย์ แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ กลับพบว่า “ความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง” ผลการศึกษาระบุว่า แต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 19-23 ล้านตัน ลงเอยด้วยการหมุนเวียนในระบบน้ำของโลก โดยอนุภาคของขยะเหล่านั้นค่อย ๆ แตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเมื่ออยู่ในน้ำ จากระดับแมคโครสู่ไมโคร และยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของมนุษย์อีกด้วย คณะนักวิจัยกล่าวถึงการผลิตพลาสติกทั่วโลก ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2045 โดยเตือนว่า พลาสติกไม่ได้เป็นแค่ภาระสำหรับระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแย่ลงอีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 เมษายน 2565

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย มีความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน

จากสภาพอากาศดังกล่าว ส่งผลให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง อาจทำให้สัตว์ป่วยได้ง่าย จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทั่วทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด โดยจัดเตรียมวิตามินและเกลือแร่ให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง จัดเตรียมโรงเรือนเพื่อเป็นที่กำบังลม ฝนให้กับสัตว์ปีกในโรงเรือน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ และตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ให้คำแนะนำการสร้างความอบอุ่นให้แก่สัตว์สัตว์ปีก เช่น จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถเป็นที่กำบังให้สัตว์จากสภาพอากาศหนาวหรือฝน เช่น ผ้าใบ และพร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบหาโรคระบาดในสัตว์ปีก และส่งเสริมยกระดับการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร.06-3225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ พร้อมระวังน้ำหลาก - ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้ใน 4 จังหวัด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (4 เม.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.พัทลุง 112 มิลลิเมตร , ชุมพร 86 มิลลิเมตร และนครศรีธรรมราช 83 มิลลิเมตร พร้อมระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 26,507 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 20,687 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 43 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามการพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนล่าง เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และพิจิตร โดย กรมชลประทาน กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของลุ่มน้ำยมตอนล่าง ด้วยการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันได เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้ได้ต่อเนื่องตลอดทั้งลำน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง 4 แห่ง เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าน้ำหลากที่ไหลมาจากพื้นที่ตอนบน คือ ประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก // ประตูระบายน้ำท่าแห อ.สามง่าม จ.พิจิตร ปตร.บ้านวังจิก และ ประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้ประมาณกว่า 38 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ได้รับประโยชน์จากระบบชลประทานได้ 198,746 ไร่ และช่วยลดปริมาณน้ำหลากช่วงฤดูฝนด้วย คาดว่า จะแล้วเสร็จปี 2568 ปัจจุบันคืบหน้าแล้วร้อยละ 44 ของแผนงาน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 เมษายน 2565

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงสัปดาห์นี้ บริเวณประเทศไทยตอนบน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล มีอากาศเย็นและหมอกบางในตอนเช้า แต่ตอนกลางวันมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่วนภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจนถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ระวังฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นสูง 2 เมตร ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 4 มีนาคม 2565

ที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ได้รับรองข้อมติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติกที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการเจรจา เพื่อมุ่งสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (INC)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถึงการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ภายใต้หัวข้อ “Strengthening Actions for Nature to Achieve the Sustainable Development Goals” เพื่อมุ่งเน้นการฟื้นฟูธรรมชาติและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ว่า ถือเป็นประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติในการรับรองข้อมติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติกและเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งกระบวนการเพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (INC) ซึ่งประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจาของข้อมตินี้ ภายใต้นโยบายที่ชัดเจนของการดำเนินงานแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั้งระบบ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ตกลงร่วมกันจะจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (OEWG) เพื่อเตรียมงานของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลภายใน 6 เดือนแรกของปีนี้ และการจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) ครั้งแรกภายใน 6 เดือนหลังของปีนี้ด้วย สิ่งสำคัญที่ประชุมครั้งนี้ยังได้รับรองรายงานการประชุม UNEA 5.2 , รับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) และรับรองข้อมติ (Resolution) 14 ข้อมติ และ 1 ข้อตัดสินใจ (Decisions) โดยประเทศไทยได้เป็นผู้ร่วมอุปถัมภ์ข้อมติ 4 ข้อมติ คือ Resolution on the Sound Management of Chemicals and Waste // Resolution for a Science-Policy Panel to contribute further to the sound management of chemicals and waste and to prevent pollution // Resolution on the environmental dimension of a sustainable และสุดท้าย resilient and inclusive post COVID-19 recovery และ Resolution on an Enhancing Circular Economy as a contribution to achieving sustainable consumption and production

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย (National Statement) บนเวทีการประชุม UNEA 5.2 ครั้งนี้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากสถานการณ์การของโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และด้านมลพิษ ซึ่งประเทศไทยได้ใช้แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) มาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 6 มีนาคม 2565

สภาพน้ำทะเลจังหวัดระยองอยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่พบคราบฟิล์มน้ำมัน ยกเว้นยังพบก้อนน้ำมันบริเวณหาดแม่รำพึงแต่พบน้อยลง

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง หลังพบก้อนน้ำมันในพื้นที่หาดแม่รำพึงบริเวณลานหินขาวพบก้อนน้ำมัน ระยะทาง 300 เมตร จากการสำรวจชายหาดแม่รำพึงตั้งแต่ศาลเจ้าแม่รำพึงถึงก้นอ่าว ระยะทางประมาณ 9.5 กิโลเมตร พบสภาพน้ำทะเลเป็นปกติและไม่พบคราบฟิล์มน้ำมันในน้ำทะเล พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างก้อนน้ำมัน 4 จุด บริเวณสะพานท่าเรือตะพง คลองหัวรถ ลานหินขาว และก้นอ่าว ซึ่งการสำรวจบริเวณสะพานท่าเรือตะพงและคลองหัวรถไม่พบก้อนน้ำมัน ส่วนบริเวณลานหินขาวและก้นอ่าวพบก้อนน้ำมัน ระยะทางประมาณ 100 เมตร ส่วนการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณชายหาดสุชาดา หาดแสงจันทร์ อ่าวบ้านเพ และหาดสวนสน พบทุกแห่งมีสภาพน้ำทะเลเป็นปกติ ไม่พบคราบฟิล์มน้ำมันในน้ำทะเล และไม่พบก้อนน้ำมัน

สำหรับการตรวจวัดคุณภาพน้ำทั่วไปพบผลอยู่ในเกณฑ์ปกติตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการ พร้อมได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเลและดินตะกอนบริเวณสถานีเก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันดิน เพื่อวิเคราะห์หาค่าการปนเปื้อนปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนด้วย


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.