• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ทส. ขับเคลื่อนเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน ลดมลพิษ ลดโลกร้อน เตรียมขยายผลไปพื้นที่อื่น หวังลดขยะพลาสติกทั่วประเทศ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 พฤษภาคม 2565

วันนี้ (15 พ.ค.65) ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิบัติขยะสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในกิจกรรมขับเคลื่อนไทยเปลี่ยนขยะพลาสติกเพื่อลดมลพิษ ลดโลกร้อน โดยมี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี คณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพี่น้องประชาชนชาวสุพรรณบุรี ร่วมกิจกรรม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกประสบกับวิกฤตจากขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล โดย 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน และมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียงปีละ 0.5 ล้านตัน อีก 1.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics : SUP) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้วแก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องพลาสติก โดยไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์หรือเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งตาม ROADMAP จัดการขยะพลาสติกประเทศไทย ปี 2561-2573 (Thailand’s Roadmap on Plastic Waste Management 2018 - 2030) ซึ่งได้ขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ได้แก่ พลาสติกผสมสารอ็อกโช่พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีดในผลิตภัณฑ์ต่างๆ (ภายในปี พ.ศ. 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี พ.ศ. 2565) โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังตั้งเข้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 จึงต้องเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีความพยายามนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เปลี่ยนสภาพเป็นผ้าไตรจีวร ย่ามพระ เสื้อผ้า และกระถางต้นไม้ เป็นต้น รวมทั้งการนำขยะพลาสติกมาทำเป็นน้ำมันด้วยกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจากสถานการณ์น้ำมันที่มีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก การใช้น้ำมันจากขยะพลาสติก จึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เกิดการนำกลับมาใช้ประโยชน์ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทางในชุมชน ให้สอดคล้องกับ Roadmap จัดการขยะพลาสติกประเทศไทย ปี 2561-2573 รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานในพื้นที่ จึงได้จัด "กิจกรรมขับเคลื่อนไทยเปลี่ยนขยะพลาสติกเพื่อลดมลพิษ ลดโลกร้อน" ขึ้น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรีเป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะที่ต้นทาง Zero Waste มีเทคโนโลยีเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน และมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเป็นเครือข่ายการดำเนินงานตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ จนถึงระดับจังหวัด ซึ่งเหมาะแก่การส่งเสริม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และขยายผลแนวทางการดำเนินงานการจัดการขยะที่ต้นทาง และการจัดการขยะพลาสติกไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การศึกษาดูงานกิจกรรมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน การจัดแสดงนิทรรศการการจัดการขยะที่ต้นทาง การจัดการขยะพลาสติก จากชุมชนเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการคัดแยกขยะพลาสติกแลกไข่และของใช้ในครัวเรือน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชุมชนเครือข่ายและภาคเอกชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมจำนวน 300 คน


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.