• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ไทย เร่งแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย และขยะสำเร็จในระดับหนึ่ง เพื่อลดสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 พฤษภาคม 2565

ประเทศไทย เร่งแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย และขยะสำเร็จในระดับหนึ่ง เพื่อลดสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างมั่นคงในอนาคต

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวบนเวทีเสวนา "สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ" ภายในงาน “ถามมา ตอบไป Better Thailand Open Dialogue เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” จัดโดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องมลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย และขยะ อย่างเรื่องมลภาวะเป็นปัญหาสำคัญมากในขณะนี้ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลภาวะในไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นดูได้จากตัวเลขตั้งแต่ปี 2562 - 2565 พบค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ประกอบกับ จุดความร้อน (Hotspot) ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัดเฉลี่ยถึงร้อยละ 70 ที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันไม่เผาในที่โล่ง แม้จะมีฝนตกลงมาช่วยลดการสะสมของฝุ่นลงและจุดความร้อนก็ตาม ภาพรวมปริมาณวันเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึงร้อยละ 20 และวันเกิดฝุ่น PM สูงสุดลดลงเช่นกันถึงร้อยละ 12 ส่วนปัญหาน้ำเสียจากการสำรวจคุณภาพน้ำยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควรและน่าเป็นห่วง ทั้งแม่น้ำ ลำคลอง ชายฝั่งทะเล และแหล่งน้ำที่รับน้ำเสียจากนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน แม้ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด - 19 คุณภาพน้ำไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นเลย ยังไม่นับรวมน้ำที่อยู่กลางอ่าวไทยและอันดามันตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และสุดท้าย ขยะ ยังพบมีการจัดการไม่เพียงพอเกิดขึ้นในประเทศ จึงต้องลดขยะด้วยการนำมารีไซเคิล ซึ่งปัจจุบันขยะรีไซเคิลเริ่มมีราคาสูงขึ้นแล้วจากการจำกัดปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกมาในประเทศตั้งแต่ปี 2563 กว่า 400 รายการ หากไทยลดปริมาณทั้ง 3 ปัจจัยสำคัญดังกล่าวลงได้จะช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกในไทย เพื่อก้าวเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2065 สำเร็จแน่นอน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มั่นใจว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีศักยภาพเพียงพอในการช่วยกันลดและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องลงมือทำจริงจังให้เกิดผลสำเร็จ เนื่องจากทั่วโลกกำลังวางมาตรการโดยเฉพาะภาษีด้านสิ่งแวดล้อมและกำหนดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในสินค้าหลายประเภทที่มีผลกระทบโดยตรงต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเอง ให้รับกับมาตรการสังคมโลกเพราะสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในทุกด้าน โดยเฉพาะการส่งออก ทั้งนี้ ในแต่ละปีพบมีประชากรโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 9 -10 ล้านคน ยังไม่นับรวมโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากสารเคมีทางการเกษตร ขยะพลาสติก และไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.