• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่อง พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังเกิดฝนตกหนักลงมา

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่อง พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังเกิดฝนตกหนักลงมา

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (23 พ.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 125 มิลลิเมตร , ชุมพร 103 มิลลิเมตร และ จ.ลำปาง 103 มิลลิเมตร พร้อมระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก -ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ 3 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา และลำปาง อยู่ 21 อำเภอ 58 ตำบล รวม 278 หมู่บ้าน ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 45,709 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติตตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณตอนบนของประเทศไทย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลมาสมทบกับบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 600 - 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกประมาณ 50 - 75 เซนติเมตร โดยกรมชลประทานจะควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากปริมาณน้ำหลากตอนบนลดลงจะพิจารณาปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.