• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ปี 2566

บรรยายพิเศษในหัวข้อ "Groundwater pollution in Southeast Asia- case studies from Myanmar and Cambodia"

12 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00 - 14.30 น. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ "Groundwater pollution in Southeast Asia- case studies from Myanmar and Cambodia" โดย Professor Dr. Melissa E. Lenczewski จาก the Institute for the Study of Environment, Sustainability, and Energy at Northern Illinois University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในโอกาสเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อดำเนินงานวิจัยภายใต้ทุน ASEAN Fulbright Research Scholar ระหว่างวันที่ 18 เมษายน ถึง วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “สารปนเปื้อนในน้ำใต้ดินที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของเมืองและการท่องเที่ยว" ณ ห้องประชุมศาสตรเมธี ดร.พงศ์พิศน์ ปิยะพงศ์ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านโปรแกรม Zoom Meeting


ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการฯตามมาตรฐาน ESPReL

11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. ศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Center for Occupational Safety, Health and Workplace Environmental Management: COSHEM) โดยคณะกรรมการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory in Thailand: ESPReL) เข้าตรวจประเมินผลการดำเนินงานโครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 8 ห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม 4420 - 4423 และห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม 4423/1 4423/2 ห้องเครื่องมือกลาง 2 และห้องน้ำกลั่น (4418)

การตรวจประเมินดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 วัน ระหว่างวันที่ 11 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. โดยมี รศ.ดร.จำลอง อรุณเลิศอารีย์ รองคณบดี คณาจารย์ หัวหน้างานและบุคลากรงานปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล ให้การต้อนรับ พร้อมร่วมรับฟังผลการตรวจประเมิน และชี้แจงตอบข้อซักถามผู้ตรวจประเมิน


ต้อนรับคณะดูงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฏร์ธานี

9 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 รองศาสตราจารย์ ดร.จำลอง อรุณเลิศอารีย์ รองคณบดี ในฐานะผู้แทนคณบดี พร้อมด้วยบุคลากรคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับผู้บริหารและบุคลากรจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี นำโดย ดร.ศักดิ์ชัย กรรมารางกูร รองคณบดีฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ ดร.พรทิพย์ วิมลทรง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กันญารัตน์ หนูชุม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ในโอกาสเข้าเรียนรู้ศึกษาดูงาน พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านต่างๆ ร่วมกับบุคลากรของคณะ อาทิ การบริหารจัดการสำนักงานสีเขียว (Green Office) มาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ (Low carbon faculty) การจัดการความรู้ (Knowledge Management) รวมถึงการดำเนินงานต่างๆ ของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ งานบริการการศึกษา งานนโยบายและแผน งานคลังและพัสดุ และงานทรัพยากรบุคคล โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการการจัดการความรู้บุคลากรสายสนับสนุน” ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี จัดขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และทักษะอันหลากหลายร่วมกันระหว่างองค์กร โดยมีคณะผู้บริหารและบุคลากรสายสนับสนุน จำนวน 18 คน เข้าร่วมโครงการฯ


Adapting to Climate Change: Facing the Consequence

9 พฤษภาคม 2566 เวลา 11.30 น. รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานอบรมนานาชาติในหัวข้อ “Adapting to Climate Change: Facing the Consequence” จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom ระหว่างวันที่ 9 -25 พฤษภาคม 2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของทั้งภาครัฐและเอกชนจาก 11 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการอบรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทการปรับตัวในมิติของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ที่เชื่อมโยงเข้ากับระบบสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่สังคมมนุษย์ต่างต้องพึ่งพา


การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นจากการสนับสนุนของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA) และกองทุน Perez-Guerrero Trust Fund (PGTF) โดยมี รศ.ดร.นาฎสุดา ภูมิจำนงค์ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นผู้อำนวยการฝึกอบรม


MU Rangers ร่วมพิทักษ์อนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมพื้นที่ภาคเหนือ

8 พฤษภาคม 2566 ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการค่าย MU Rangers ร่วมพิทักษ์อนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่วันที่ 8-10 พฤษภาคม 2566 โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดลำปาง เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมรูปแบบภาคสนาม ณ อุทยานแห่งชาติและชุมชนพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติดอยจง จังหวัดลำปาง ในหัวข้อ”ละอ่อน MU Rangers ร่วมแรงแก้ปัญหาภัยแล้งและฝุ่นบ้านเฮา” รวมถึงกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ ป่าไม้และวนเกษตร การสำรวจธรณี พลังงานทดแทน เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG และการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นกิจกรรมสำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตความสัมพันธ์ระหว่างภูมิปัญญาวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงสร้างความตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและแนวทางแก้ไข


ประชุมความร่วมมือระหว่าง "นักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์" กับ "ผู้แทนชุมชนเกาะลัดอีแท่น จ.นครปฐม"

2 พฤษภาคม 2556 เวลา 13.00 น. บุคลากรและนักศึกษาจากทั้งภายในและภายนอกคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือระหว่าง "นักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์" กับ "ผู้แทนชุมชนเกาะลัดอีแท่น จ.นครปฐม" ประกอบด้วย คุณลือยศ บรรพกาญจน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองไร่ขิง คุณเอกวิทย์ นวเศรษฐ สถาปนิกและเจ้าของคาเฟ่ MADI ณ ลัดอีแท่น จังหวัดนครปฐม Ms. Judy Mutziger นักอนุรักษ์และนักวิชาการอิสระ คุณปาริชาต สุนทรารักษ์ ผู้แทนสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (Thai Ecotourism And Adventure Travel Association: TEATA) ตลอดจนบุคลากรจากเทศบาลเมืองไร่ขิงและผู้แทนจากบริษัทท่องเที่ยวเอกชน


โดยในที่ประชุมได้มีการร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสนอแนะข้อคิดเห็นในการพัฒนาชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การพัฒนาพื้นที่ชุมชนตลอดริมแม่น้ำนครชัยศรีที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและพลังงานทางเลือก รวมถึงหารือความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างชุมชนเกาะลัดอีแท่นกับคณะในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนชุมชน การจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน (Outdoor Classroom) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการคิดค้นนวัตกรรมพลังงานสะอาด รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) อื่นๆ ตั้งแต่การพัฒนาที่อยู่อาศัยเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นไปจนถึงการเสริมสร้างธุรกิจชุมชนเพื่อความยั่งยืน
การประชุมจัดขึ้น โดยมี รศ.ดร.นพพล อรุณรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนโยบาย แผน และการจัดการความรู้ และ ผศ.ดร.สุกัญญา เสรีนนท์ชัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ประสานงานหลัก ณ ห้องประชุมเทพนม เมืองแมน อาคารอาจารย์จิระศักดิ์ พูนผล (อาคาร 2) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.