• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

การบรรยาย Research Talk ครั้งที่ 1/2565 เรื่อง “อัพเดทสถานการณ์ทุนวิจัย รู้เขารู้เรา เตรียมพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ”


สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2565

หัวข้อเรื่อง “อัพเดทสถานการณ์ทุนวิจัย รู้เขารู้เรา เตรียมพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ”

ผู้บรรยายโดย นายยุทธพล ผ่องพลีศาล เจ้าหน้าที่วิจัย (ผู้ชำนาญการพิเศษ)

ร่วมด้วยแขกรับเชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มณฑิรา ยุติธรรม และ อาจารย์ ดร. บุญลือ คะเชนทร์ชาติ

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.15 -15.00 น. ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทาง Cisco Webex

สรุปสาระสำคัญโดย ยุทธพล ผ่องพลีศาล งานบริหารการวิจัย

 

 

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยงานบริหารการวิจัยร่วมกับสำนักงานวิทยบริการด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2565 ในหัวข้อเรื่อง “อัพเดทสถานการณ์ทุนวิจัย รู้เขารู้เรา เตรียมพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ" เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเวลา 13.15 – 15.30 น. ผ่านระบบ Cisco Webex โดยมี นายยุทธพล ผ่องพลีศาล เจ้าหน้าที่วิจัย (ผู้ชำนาญการพิเศษ) สังกัดงานบริหารการวิจัย เป็นวิทยากรหลัก ร่วมกับแขกรับเชิญ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มณฑิรา ยุติธรรม และอาจารย์ ดร. บุญลือ คะเชนทร์ชาติ มาบรรยายให้ความรู้และประสบการณ์ในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 42 คน จากคณาจารย์ นักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย และบุคลากรภายในส่วนงาน

เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม กล่าวแนะนำกำหนดการ และประวัติวิทยากรโดยคุณณัฐกานต์ รัชกุล เจ้าหน้าที่วิจัย รวมทั้งกล่าวเปิดกิจกรรมโดยศาสตราจารย์ ดร. สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอข้อมูลตัวอย่างแผนงานวิจัยในระบบ ววน. ที่ใช้ในปัจจุบัน สถานการณ์การเสนอโครงการวิจัยในช่วงที่ผ่านมา ร่วมเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จจากนักวิจัยภายในองค์กร ข้อมูลทุนวิจัยที่จะเปิดรับในปีงบประมาณ 2565 และนำเสนอแบบสำรวจข้อมูลความต้องการทำงานวิจัยของนักวิจัย เพื่อที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับทราบข้อมูลและบริบทสถานการณ์ด้านทุนวิจัยและนำไปปรับใช้ในการเสนอโครงการวิจัยแก่แหล่งทุนต่าง ๆ ได้ต่อไป 

                                                                 

รูปที่ 1: บรรยากาศการจัดกิจกรรม 

 

จากนั้นเป็นการบรรยายโดยวิทยากรหลักของกิจกรรม โดยในช่วงแรก ได้กล่าวถึงตัวอย่าง “หัวข้อวิจัยตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2563 - 2565” มีรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ โครงสร้างและการจัดสรรงบประมาณด้านววน. (รูปที่ 2) แพลตฟอร์มการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า “4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม” นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนที่เกี่ยวข้องกับแผนด้านววน. ในปัจจุบัน หน่วยบริหารจัดการโปรแกรม (PMU) เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ (OKRs) และตัวอย่างแผนงานวิจัยในระยะ 3 ปี (รูปที่ 3) รวมทั้งตัวอย่างหัวข้อวิจัยโปรแกรม 17: การแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสถานการณ์ระบาด COVID-19 และภัยแล้งและวิกฤตน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอย่างมาก เพื่อเป็นการทบทวนข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานวิจัยในระบบ ววน. ตามแพลตฟอร์ม โปรแกรม และ PMU ที่รับผิดชอบ

 


รูปที่ 2: แสดงโครงสร้างและการจัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงานวิจัยในระบบ ววน.

 


รูปที่ 3: แสดงตัวอย่างแผนงานวิจัยตามแผนด้านววน. พ.ศ.2563 - 2565  


ในช่วงที่สอง เป็นการนำเสนอ “สถานการณ์การส่งข้อเสนอการวิจัย” ในช่วงระยะเวลา 6 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2559-2563 (รูปที่ 4) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นที่ข้อมูลการส่งข้อเสนอการวิจัย ในช่วง 2 ปีย้อนหลัง (ปีงบประมาณ 2563 -2564) กว่า 97 โครงการ จำแนกทั้งแพลตฟอร์มการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์และตามแหล่งทุน (PMU) เพื่อที่จะให้นักวิจัยทราบถึงภาพรวมสถานการณ์การส่งข้อเสนอการวิจัย แนวโน้มอัตราความสำเร็จ แหล่งทุน และประเภททุนที่นิยมส่ง และมีการสัมภาษณ์นักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นแขกรับเชิญในช่วงดังกล่าว 2 ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มณฑิรา ยุติธรรม และ อาจารย์ ดร. บุญลือ คะเชนทร์ชาติ (รูปที่ 5) เพื่อบอกเล่าแนวทางการเตรียมความพร้อม เทคนิคการจัดทำข้อเสนอโครงการ และปัจจัยสู่ความสำเร็จในการเสนอโครงการวิจัยแก่แหล่งทุน อันมีสาระสำคัญจากประสบการณ์และข้อแนะนำจากทั้ง 2 ท่าน กล่าวคือ การเขียนข้อเสนอทุนวิจัยให้หาประเด็นที่เป็น Research Gap เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีการสร้างเครือข่ายนักวิจัยทั้งภายในส่วนงาน หน่วยงานภายนอก และมีความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ศึกษา ข้อเสนอการวิจัยต้องสอดคล้องกับ OKRs มีงบประมาณที่เหมาะสมสอดคล้องตามข้อกำหนดของแหล่งทุน มีความเป็นบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยสามารถแสดงการนำไปใช้ประโยชน์ที่ชัดเจนทั้งในระดับพื้นที่จนถึงระดับชาติเมื่อเสร็จสิ้นการวิจัย จนถึงการต่อยอดในอนาคต จะทำให้ข้อเสนอการวิจัยมีความน่าสนใจและได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุน

 

รูปที่ 4: แสดงสถานการณ์การส่งข้อเสนอการวิจัยและอัตราความสำเร็จในช่วง 6 ปีย้อนหลัง 

 

รูปที่ 5: ช่วงสัมภาษณ์นักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 



ในช่วงที่สาม ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบรรยาย เนื่องจากเป็นข้อมูลสำคัญที่นักวิจัยจะได้รับทราบ “ข้อมูลทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับในปีงบประมาณ 2565” โดยเน้นแหล่งทุนวิจัยในระบบ ววน. ที่นักวิจัยนิยมส่งข้อเสนอโครงการ (รูปที่ 6) มานำเสนอในรูปแบบปฏิทินทุนวิจัยและช่วงเดือนที่จะเปิดรับ (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) อาทิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) และข้อมูลทุนวิจัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัย และเงินรายได้ส่วนงาน รวมทั้งแนวทางการพิจารณาข้อเสนอการวิจัยของแหล่งทุนที่สำคัญ (รูปที่ 7) อันประกอบไปด้วย ขั้นตอนการส่งข้อเสนอโครงการ เกณฑ์การพิจารณาโครงการ และเงื่อนไขสำคัญเฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นข้อมูลแก่นักวิจัยในการวางแผนจัดเตรียมข้อเสนอโครงการได้ทันเวลา

 


รูปที่ 6: ตัวอย่างปฏิทินทุนวิจัย

 
รูปที่ 7: ตัวอย่างข้อมูลเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอการวิจัยของแหล่งทุน


ในช่วงสุดท้าย เป็นการแนะนำ “แบบสำรวจข้อมูลความต้องการเสนองานวิจัย” (Researcher portfolio) (รูปที่ 8) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น ในรูปแบบ Concept Proposal จากนักวิจัยเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญ ความสนใจที่จะทำวิจัย platform/program/PMU ที่เกี่ยวข้อง แนวคิดโครงการ กลุ่มเป้าหมายฯ การนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งโครงการที่คาดว่าจะเสนอ หรือที่จะต่อยอดในอนาคต ซึ่งนักวิจัยสามารถส่งข้อมูลแบบสำรวจได้ตลอดเวลา เพี่อที่ผู้ประสานงานจะตรวจสอบกับประวัติการเสนองานวิจัยในฐานข้อมูล (Portfolio) (รูปที่ 9) ช่วยหาข้อมูลจากแหล่งทุนล่วงหน้า แนะนำแนวทางแก่นักวิจัยในการวางแผนเสนอโครงการต่อแหล่งทุนที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


รูปที่ 8: ตัวอย่างแนวคำถามในแบบสำรวจข้อมูลความต้องการเสนองานวิจัย


รูปที่ 9: ประวัติการเสนองานวิจัย (Folio) ย้อนหลังของนักวิจัยในฐานข้อมูลงานวิจัยและบริการวิชาการ

ข้อมูลเพิ่มเติม 

ดาวน์โหลดเอกสารการบรรยาย

• ดาวน์โหลดปฏิทินทุนวิจัยและแบบสำรวจ: https://en.mahidol.ac.th/th/fundcalendar

• ดาวน์โหลดเอกสารแผนด้านววน.และคู่มือแหล่งทุนต่างๆ: https://en.mahidol.ac.th/th/guidelines 

 



 


กิจกรรมงานวิจัย

ขั้นตอนปฏิบัติ

ขั้นตอนปฏิบัติ

เพื่อให้ผู้มาขอให้บริการเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ในการขอรับบริการงานบริหารงานวิจัยจึงได้รวบรวมขั้นตอนการทำงาน (Workflow) ไว้สำหรับทุกท่าน
ดูขั้นตอนต่างๆ ในการขอรับบริการ
This image for Image Layouts addon

แบบสำรวจข้อมูล

แบบสำรวจข้อมูลเพื่อนำไปสู่การค้นหาทุนที่เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญของนักวิจัย
เข้าสู่แบบสำรวจ
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.