• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Post Formats


สารบัญ

ข้าวสารัช อัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตระหว่างคนกับสัตว์

ดร.รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., Tel.081-5774774

ในโลกยุคปัจจุบันมนุษย์ได้ให้ความสนใจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการดำรงชีพของมนุษย์และสัตว์ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์มีผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ตราสารัชเป็นอัตลักษณ์ของการอนุรักษ์วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของคนกับสัตว์ หรือการอยู่ร่วมกันระหว่างเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์สวายสอกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยอย่างยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เคยเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากการใช้สารเคมีในการเกษตรจนส่งผลให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยหายไปจากพื้นที่ยาวนานมากกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ถึงปัญหาย่อมส่งผลให้เกิดการแก้ไข ปี พ.ศ. 2511 องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์และกรมอุทยานแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้เริ่มต้นโครงการ ‘นกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่น’ หรือ Sarus Crane Reintroduction Project ด้วยการผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวแบบอินทรีย์ เพื่อให้พื้นที่นาข้าวเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของนกกระเรียน ความทุ่มเทพยายามนี้ได้รับการสนับสนุนจากวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์สวายสอ จนสามารถนำนกกระเรียนกลับคืนสู่ถิ่นได้ประสบความสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2559 นับเป็นเวลากว่า 48 ปีในการทุ่มเทพยายามเพื่อทำให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับมาน่าอยู่สำหรับนกกระเรียนอีกครั้ง การให้ที่อยู่อาศัยนกกระเรียนจำเป็นต้องทำให้เกษตรกรมีรายได้ควบคู่กันไปเพื่อการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยอย่างยั่งยืน ดังนั้น เกษตรกรที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์สวายสอและองค์การสวนสัตว์จึงร่วมกันสร้างและผลักดันตราสินค้า “ข้าวสารัช” เพื่อยกย่องคุณงามความดีของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนในการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนถิ่น พร้อมทั้งยกให้ท้องนาของเกษตรกรเป็นแผ่นดินของนกกระเรียน จึงกล่าวได้ว่าข้าวสารัชเป็นตราสินค้าซึ่งเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตระหว่างเกษตรกรกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน หากข้าวสารัชเป็นที่รู้จักในตลาดและกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขึ้น จะส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรในการดำรงระบบการผลิตข้าวแบบอินทรีย์ต่อไปได้ และนาข้าวก็จะยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียน

ลูกนกกระเรียน
ภาพที่ 1 ลูกกระเรียนในนาข้าวอินทรีย์ในพื้นที่นาจังหวัดบุรีรัมย์
ที่มา: ธารริน(2560)

กระบวนการสร้างตราสินค้ามีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ของข้าวสารัช ประกอบด้วย การเล่าเรื่องราวอันทรงคุณค่าระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ กับนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่มีความสัมพันธ์กันในด้านการเกื้อกูลกัน โดยนำเรื่องเล่านี้มาเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของข้าวสารัช และนำอัตลักษณ์ดังกล่าวมาบอกเล่าผ่านบรรจุภัณฑ์

โครงการนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่นได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่อย่างมาก โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเพื่อการเกษตรจากการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก มาเป็นการเกษตรแบบอินทรีย์ เพื่อสร้างพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่หากินแก่นกกระเรียน โดยผลผลิตที่ได้จากนาข้าวอินทรีย์เหล่านี้ คือ ข้าวอินทรีย์ตราสารัช หรือข้าวสารัช ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นตัวแทนสัญลักษณ์วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์

อย่างไรก็ตาม เรื่องราววิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับนกกระเรียน ไปจนถึงความทุ่มเทพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อนำนกกระเรียนกลับคืนถิ่นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และแม้ว่าเรื่องราวนี้จะถูกถ่ายทอดผ่านสินค้าข้าวสารัช แต่เนื่องจากข้าวสารัชยังไม่เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างทำให้ผู้บริโภคไม่รับรู้ถึงความทุ่มเทพยายามของเกษตรกรเพื่อนกระเรียน

ปัจจุบันสถานการณ์ช่องทางการจัดจำหน่ายข้าวสารัชยังมีน้อย การลงทุนลงแรงของเกษตรกรที่เสียสละที่นาของตนให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนจะไม่สามารถทำได้อย่างยั่งยืนหากเกษตรกรขาดรายได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการทุ่มเท เสียสละของเกษตรกรเพื่อนกกระเรียน สาเหตุที่ผู้บริโภคไม่เกิดการรับรู้ถึงเรื่องราวอันทรงคุณค่าของข้าวสารัช เกิดจากช่องทางการจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ไม่เอื้อให้เกิดการรับรู้ของผู้บริโภค ส่งผลให้ข้าวสารัชไม่เป็นที่รู้จักในท้องตลาดทั่วไป


ข้าวสารัช สถานการณ์และการดำรงอยู่

ปัจจุบันข้าวสารัชดำเนินการผลิตโดยวิสาหกิจชุมชนสวายสอ ประกอบด้วย เกษตรกรจำนวนทั้งสิ้น 40 ราย และมีพื้นที่สำหรับปลูกข้าวจำนวน 619 ไร่ ใช้รูปแบบการปลูกข้าวแบบนาปี หรือการปลูกข้าวปีละ 1 ครั้งในฤดูฝนและเก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง

ภาพที่ 2 การปลูกข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ของนกกระเรียน
ที่มา: GIZ Thailand (2562)

ภาพที่ 3 การเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนสวายขอ
ที่มา: ธาริน (2560)

กระบวนการผลิตข้าวยังคงใช้วิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม นั่นคือ การใช้แรงงานคนเป็นหลักในการผลิต ตั้งแต่กระบวนการปลูก เก็บเกี่ยว คัดเมล็ด ไปจนถึงบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ ในด้านหนึ่งการผลิตในรูปแบบนี้เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตของคนไทยแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน รูปแบบการผลิตเช่นนี้ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนไม่สามารถผลิตข้าวได้ทันในกรณีที่มียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก ปัญหาที่วิสาหกิจชุมชนสวายสอเผชิญเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น คือ ไม่มีโรงสีขนาดใหญ่รองรับการสีข้าวจำนวนมาก ทำให้วิสาหกิจต้องแก้ปัญหาด้วยการจ้างโรงสีเอกชนขนาดใหญ่ส่งผลต่อการเพิ่มต้นทุนการผลิต ประกอบกับคู่แข่งทางด้านสินค้าข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมากทำให้ข้าวสารัชต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้มากขึ้น ทั้งด้านกระบวนการผลิตและกระบวนการจัดจำหน่าย

กระบวนการจัดจำหน่ายในปัจจุบันใช้ช่องทางทั้งผ่านไลน์ เฟสบุ๊ค ร้านค้าท้องถิ่น วางขายร้านของฝากในจังหวัดบุรีรัมย์ และบริษัท เรียล เบฟเวอร์เรจ สยาม จำกัด ที่รับซื้อข้าวสารและนำไปบรรจุในตราสัญลักษณ์อื่น ซึ่งช่องทางการจัดจำหน่ายยังคงมีน้อย ดังภาพที่ 4

ภาพที่ 4 ช่องการจัดจำหน่ายของข้าวสารัช
ที่มา: จากการรวบรวมข้อมูลของคณะผู้วิจัย

ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวายสอในปัจจุบันจำหน่ายภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ข้าวสารัช” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผู้บริโภคยังไม่รับรู้เรื่องราวอันทรงคุณค่าระหว่างเกษตรกรกับนกกระเรียน อันเนื่องจากการประชาสัมพันธ์เรื่องราวของข้าวสารัชยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันใช้รูปแบบการบรรยายในกิจกรรมการดูงานของกลุ่ม การออกบูธขายสินค้าพร้อมกับการประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ผ่าน Fan Page Facebook แต่การอัพเดทเนื้อหามีไม่บ่อยนัก และองค์การสวนสัตว์ช่วยประชาสัมพันธ์ ประกอบกับคู่แข่งทางการค้าของสินค้าข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ข้าวสารัชจึงต้องพัฒนาช่องการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาดข้าวอินทรีย์

บทความนี้ใช้ SWOT Analysis เป็นเครื่องมือวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของการจัดจำหน่ายข้าวสารัช เพื่อชี้ให้เห็นช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภค และเพื่อหาวิธีการเข้าถึงการรับรู้ของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมกับสินค้า

SWOT Analysis ประกอบด้วย การวิเคราะห์จุดแข็ง (Strength) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายในอันส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ข้าวสารัช ทำให้เกิดความเข้มแข็งของธุรกิจที่นำไปสู่ความได้เปรียบทางการตลาด การวิเคราะห์จุดอ่อน (Weakness) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายในอันส่งผลเสีย หรือเป็นปัญหาบกพร่องภายใน ซึ่งทำให้เกิดจุดอ่อนที่สร้างความเสียเปรียบทางการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ข้าวสารัช การวิเคราะห์โอกาส (Opportunity) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ข้าวสารัช และการวิเคราะห์อุปสรรค (Threat) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกอันเกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร ซึ่งสร้างข้อจำกัดให้แก่การดำเนินธุรกิจ และส่งผลเสียต่อผลิตภัณฑ์ข้าว สารัช

จากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของสินค้าข้าวสารัช พบว่า ปัจจัยภายในที่เป็น จุดแข็งที่สำคัญสำหรับข้าวสารัช คือ เรื่องเล่าที่ทรงคุณค่าของนกกระเรียนอันเป็นสัญลักษณ์ของการทุ่มเทพยายามในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ คุณภาพสินค้าข้าวอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจ และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก นั่นคือ องค์การสวนสัตว์ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคต่อการจำหน่ายสินค้า คือ ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารออนไลน์ ส่งผลให้ช่องทางการสื่อสารหรือช่องทางการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคมีน้อย ตราสัญลักษณ์นกกระเรียนยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสินค้าข้าวสารัช ได้แก่ โอกาส คือ ข้าวสารัชได้รับการสนับสนุนจากองค์การสวนสัตว์ในด้านการประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้ข้าวสารัชเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกกำลังเป็นที่ตระหนักในปัจจุบัน ประกอบกับกระแสการดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม การรับประทานอาหารที่มีกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ รวมถึงข้าวอินทรีย์กำลังเป็นที่นิยม ส่วนด้านอุปสรรค คือ กระบวนการผลิตข้าวขึ้นอยู่กับสถานการณ์ธรรมชาติทำให้ในบางปีผลิตข้าวได้น้อยอันเนื่องจากฝนฟ้าไม่เป็นตามตามคาดหมาย และคู่แข่งทางด้านการค้ามีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยมีสินค้าข้าวอินทรีย์เป็นจำนวนมาก

จากสถานการณ์ปัจจุบันด้านช่องทางการจัดจำหน่ายของข้าวสารัชสามารถสรุปได้ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5 การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันด้านช่องทางการจัดจำหน่ายของข้าวสารัช ด้วย SWOT Analysis
ที่มา : คณะผู้วิจัย

จากภาพสถานการณ์ปัจจุบันของข้าวสารัชย้ำให้เห็นว่าปัญหาหลักของการขายสินค้าข้าวสารัชในตลาด คือ ผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ได้ถึงคุณค่าและความหมายของข้าวสารัช ซึ่งวิธีการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคประการหนึ่ง คือ การสร้างอัตลักษณ์ให้แก่สินค้าเพื่อให้สินค้ามีเอกลักษณ์และเป็นที่น่าจดจำ


อัตลักษณ์ข้าวสารัชและการรับรู้ของผู้บริโภค

การสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคเป็นวิธีการหนึ่งที่เชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับสินค้า วิธีการสร้างการรับรู้ประการหนึ่งคือ การหยิบยกอัตลักษณ์ของข้าวสารัชขึ้นมาเป็นจุดขาย ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้เรื่องเล่าที่เฉพาะตัวของข้าวสารัชหรือเรื่องเล่าของนกกระเรียนมาเป็นอัตลักษณ์สำคัญ และนำเสนออัตลักษณ์ดังกล่าวผ่านรูปแบบต่าง ๆ ในที่นี้จะนำเสนอการบอกเล่าอัตลักษณ์ผ่านบรรจุภัณฑ์ อัตลักษณ์ข้าวสารัชเป็นไปดังภาพที่ 6

ภาพที่ 6 องค์ประกอบอัตลักษณ์ข้าวสารัช สู่การนำเสนอความหมายในบรรจุภัณฑ์
ที่มา : คณะผู้วิจัย

จากภาพแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบการสร้างอัตลักษณ์ประกอบด้วย

1) คุณประโยชน์ของข้าวสารัช ซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ปลอดสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและข้าวยังประกอบด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการหลายประการ

2) การสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นนกกระเรียน ที่น่าซื้อและสื่อถึงความหมายวิถีชีวิตของคนกับนกกระเรียน เนื่องจากกระบวนการผลิตข้าวสารัชมีเรื่องราวการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างเกษตรกรกับนกกระเรียน กล่าวคือ เกษตรกรได้แบ่งพื้นที่บางส่วนให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียน และปล่อยให้พื้นที่นาของตนเป็นพื้นที่หากินของนก

3) สินค้าสื่อถึงถิ่นที่อยู่ของนกกระเรียน ซึ่งมีความหมายเกี่ยวโยงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นยังกล่าวถึงเรื่องราวการกลับมาของนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่หายไปนานกว่า 48 ปี และเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่ด้วยความร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรและภาครัฐทำให้สามารถนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนถิ่นมาได้ ดังนั้น การปลูกข้าวของเกษตรกรจึงไม่ได้มีความหมายเพียงการปลูกเพื่อขายหรือเลี้ยงชีพมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเลี้ยงชีพนกกระเรียนให้สามารถอยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อไปได้

4) ปริมาณข้าวในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสังคมที่มีการใช้ชีวิตในรูปแบบครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น หรือในหลายกรณีที่ผู้คนในสังคมสมัยใหม่มักเลือกใช้ชีวิตอยู่คนเดียว มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวน้อยลง ส่งผลให้การซื้อข้าวในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่การซื้อในปริมาณมากต่อการซื้อแต่ละครั้ง ดังนั้น ปริมาณข้าวในบรรจุภัณฑ์จึงสำคัญ ในกรณีการบรรจุข้าวสารัชจะบรรจุถุงขนาด 500 กรัม และ 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมและตอบโจทย์กับชีวิตของผู้คนในสังคมสมัยใหม่

จากองค์ประกอบของอัตลักษณ์ทั้ง 4 ประการ สามารถนำเสนอเพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค ด้วยการนำมาเป็นจุดขายในรูปแบบการเล่าเรื่องราว (Story Telling) แก่ผู้บริโภคด้วยวิธีการนำเสนอเนื้อหาผ่านบรรจุภัณฑ์


ข้าว วิถีชีวิต และนกกระเรียนผ่านบรรจุภัณฑ์ข้าวสารัช

เป้าหมายการนำเสนออัตลักษณ์ผ่านบรรจุภัณฑ์ของข้าวสารัช คือ การทำให้ผู้บริโภครับรู้และตระหนักคุณค่าของนกกระเรียน การอนุรักษ์ธรรมชาติ และวิถีการดำรงชีพของเกษตรกรและนกกระเรียน พร้อมกันนั้นเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมในความเป็นไทยให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ว่าทุกคนบนโลกนี้สามารถช่วยให้นกกระเรียนมีที่อยู่อาศัยและสืบพันธุ์ต่อไปได้เพียงซื้อข้าวสารัช ทั้งนี้ ข้อความที่ใช้สื่อ คือ

“ข้าวแห่งแผ่นดินนกกระเรียน ธำรงชีวิต ธำรงวัฒนธรรม ธำรงความยั่งยืน”

มีความหมาย ดังนี้

“ข้าวแห่งแผ่นดินนกกระเรียน” หมายถึง การปลูกข้าวของเกษตรกรในพื้นที่หมู่บ้านสวายสอที่ยกให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็น “แผ่นดิน” ของนกกระเรียน เป็นการดำรงรักษาชีวิตนกกระเรียนพันธุ์ไทยไม่ให้สูญหายไปจากแผ่นดินดังกล่าว

“ธำรงชีวิต” หมายถึง การปลูกข้าวแบบอินทรีย์ นอกจากจะช่วยให้นกกระเรียนสามารถอยู่รอดได้ ยังสามารถช่วยให้ชีวิตเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ด้วยการขายข้าวอินทรีย์ออกสู่ท้องตลาด ทั้งยังช่วยให้สุขภาพของผู้บริโภคดีขึ้นจากการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดสารเคมี

“ธำรงวัฒนธรรม” หมายถึง การรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตของเกษตรกรในภาคอีสาน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สื่อเอกลักษณ์ความเป็นไทยอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทั้งนี้ ในพื้นที่หมู่บ้านสวายสอมีวัฒนธรรมที่เฉพาะกว่าเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพราะเป็นวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ ดังนั้น ซื้อข้าวสารัชจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดำรงรักษาวิถีชีวิตเช่นนี้ให้สืบต่อไป

“ธำรงความยั่งยืน” หมายถึง การรักษาไว้ซึ่งความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการปลูกข้าวในรูปแบบอินทรีย์ ทำให้สามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยจากสารเคมีได้ ทั้งยังรักษาไว้ซึ่งชีวิตนกกระเรียนให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การซื้อข้าวสารัชก็เป็นการรักษาความยั่งยืนของชีวิตนกกระเรียนและเกษตรกรไปในตัว ซึ่งสอดคล้องกับข้อความ “สนับสนุนข้าวสารัช = ช่วยให้นกกระเรียนไม่สูญพันธุ์” และ “Save Eastern Sarus Crane”

ภาพที่ 7 สโลแกนข้าวสารัช
ที่มา: คณะผู้วิจัย

รูปแบบบรรจุภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

ภาพที่ 8 บรรจุภัณฑ์ข้าวสารัช 3 รูปแบบ
ที่มา : คณะผู้วิจัย

บรรจุภัณฑ์รูปแบบที่ 1: บรรจุภัณฑ์กล่องข้าวสีทอง ประกอบด้วยกล่องข้าว 3 สี บรรจุไว้ในกล่องใหญ่สีทอง องค์ประกอบแต่ละอย่างบนบรรจุภัณฑ์สื่อถึงข้าว เกษตรกร และนกกระเรียน ดังภาพที่ 9

ภาพที่ 9 ความหมายของบรรจุภัณฑ์แบบที่ 1
ที่มา : คณะผู้วิจัย

บรรจุภัณฑ์รูปแบบที่ 2: ใช้กระสอบเป็นวัสดุหลักเพื่อสื่อถึงข้าวและความเป็นไทย อันเนื่องจากกระสอบป่านมีความเป็นมาที่อยู่คู่กับข้าวไทยมานับตั้งแต่ พ.ศ.2484 ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันให้ประชาชนผลิตกระสอบป่านเพื่อบรรจุข้าวในยุคที่ผลิตข้าวได้เป็นจำนวนมาก กระสอบป่านจึงเป็นบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ในประวัติศาสตร์คู่กับข้าวไทยมานาน เรียกได้ว่ากระสอบป่านเป็นสัญลักษณ์ของข้าวสาร ดังนั้น เมื่อเห็นกระสอบป่านผู้คนจึงมักจะนึกถึงข้าวซึ่งเป็นสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในกระสอบ นอกจากนี้ ยังสื่อถึงการลดการใช้พลาสติกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเมื่อผู้บริโภครับประทานข้าวจนหมดกระสอบ ผู้บริโภคสามารถนำกระสอบนี้ไปใช้ต่อได้ในโอกาสอื่นๆ เช่น ใส่ของเล็กๆ น้อยๆ หรือนำไปใส่ข้าวสารซ้ำได้อีก

ภาพที่ 10 ความหมายบรรจุภัณฑ์แบบที่ 2
ที่มา: คณะผู้วิจัย

บรรจุภัณฑ์แบบที่ 3: บรรจุภัณฑ์ข้าวสารัชแบบพรีเมียม มีผ้าไหมบุรีรัมย์เป็นวัสดุสำคัญเพื่อเชิดชูคุณค่าและความหมายของข้าวสารัชที่ควรค่าแก่การยกย่อง ทั้งนี้ ความเป็นมาของผ้าไหมบุรีรัมย์มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเยี่ยมเยือนกลุ่มทอผ้าไหมบุรีรัมย์และได้แต่งเพลง “ลาวดวงเดือน” กล่าวได้ว่าเพลงนี้มีเรื่องราวของผ้าไหมบุรีรัมย์ร่วมด้วย นอกจากนี้ การใช้วัสดุเป็นผ้าไหมบุรีรัมย์ในด้านหนึ่งเพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย

ภาพที่ 11 ความหมายบรรจุภัณฑ์แบบพรีเมียม
ที่มา : คณะผู้วิจัย

ภาพที่ 12 บรรจุภัณฑ์กล่องหุ้มกล่องผ้าไหม
ที่มา : คณะผู้วิจัย

ประโยชน์จากการนำอัตลักษณ์ข้าวสารัชมาเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ข้าวสารัช ในด้านหนึ่งคือ การประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของของข้าว เกษตรกร และนกกระเรียน ซึ่งมีความหมายและประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งของวิถีชีวิตระหว่างคนกับนกกระเรียนพันธุ์ไทย วิถีชีวิตดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยในมายาคติ หรือความเป็นไทยแบบดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี

กล่าวโดยสรุป การทำให้ผู้บริโภคเกิดแรงจูงใจและกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อข้าวสารัชได้ สิ่งสำคัญคือ การริเริ่มและการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค โดยวิธีการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่สินค้าข้าวสารัชด้วยการเล่าเรื่องราว (Story telling) ที่สำคัญของข้าวสารัช ได้แก่ เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนกกระเรียนพันธุ์ไทย ความพยายามของคนที่นำพานกกระเรียนกลับคืนมา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นไทย วิธีการหนึ่งในการเผยแพร่เรื่องราวให้ผู้บริโภครับรู้ คือ บรรจุเรื่องราวผ่านบรรจุภัณฑ์ของข้าวที่เล่าเรื่องราวของอันทรงคุณค่าได้ และมีรูปแบบที่น่าดึงดูดให้ซื้อ ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม เช่น ตลาดออนไลน์ ร้านขายของฝาก เป็นต้น

ตราสินค้าข้าวสารัชเป็นเครื่องมือที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของข้าวสารัช โดยอัตลักษณ์ดังกล่าวได้บอกเล่าเรื่องราวการอยู่ร่วมกันระหว่างเกษตรกรกับนกกระเรียนพันธุ์ไทย การอนุรักษ์ธรรมชาติ และวิถีชีวิตความเป็นไทย การซื้อสินค้าข้าวสารัชเท่ากับการช่วยให้วิถีชีวิตดังกล่าวสามารถดำรงอยู่สืบไปได้อย่างยั่งยืน ในแง่นี้ ข้าวสารัชจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกษตรกรและนกกระเรียนดำเนินชีวิตได้ในพื้นที่นาจังหวัดบุรีรัมย์ได้อย่างยั่งยืน

 

 

 


Accordion Menu

Newsletter Subscribe

About The Flex

Good seasons, day place male evening life after together gathered let void she'd grass created days upon after above great. Creative, prolific and ever-ready to serve you.


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.