• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

จากกองภูเขาขยะสู่พลังงาน ทางเลือก ทางรอด ปัญหาขยะชุมชน

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  16 มิถุนายน 2567

ที่มา : มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_4623086)

กระบี่ อีกหนึ่งจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จากข้อมูลเมื่อปี 2566 พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนกว่า 3.8 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทว่าท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวต้องแลกมากับปัญหาขยะล้นเมืองที่สั่งสมมาตลอด ซึ่งในอดีตตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมาใช้วิธีสร้างพื้นที่ฝังกลบขยะขนาดใหญ่บนพื้นที่ 251 ไร่ ต่อมาขยะมูลฝอยมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะแค่ เขตเทศบาลเมืองก็มีขยะใหม่เพิ่มเฉลี่ยวันละ 200 ตันต่อวัน ที่ส่วนใหญ่มาจากการกินใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เศษอาหารสด เปลือกมะพร้าว ถุงพลาสติก เศษกระดาษ เศษผ้า หลอดดูดน้ำ วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ชำรุด ฯลฯ ตกค้างเป็นกองภูเขาขยะรอกำจัดมากกว่า 8 แสนตัน จนเกิดการร้องเรียนของชาวบ้านเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็น แมลงวัน รวมถึงน้ำชะขยะที่ทำให้น้ำบ่อใต้ดินไม่สามารถใช้ได้หลังศึกษาวิธีจัดการขยะที่เหมาะสมมานานกว่า 20 ปี ในที่สุดกระบี่ก็มีแนวคิดจะกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาในระบบปิดแล้วนำพลังงานความร้อนที่ได้มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าแบบเดียวกับที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อาทิ อังกฤษ เยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น เลือกใช้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับสิ่งแวดล้อมมากสุด จึงได้มีการออกเงื่อนไขการประกวดราคาเพื่อหาภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญมาร่วมทุนกับเทศบาลฯ พร้อมเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างเพื่อดำเนินโครงการ “โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่” ขึ้นภายในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองกระบี่แห่งนี้

ในที่สุดก็ได้คัดเลือกบริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ที่มีประสบการณ์ในการทำโรงไฟฟ้าขยะชุมชนร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่นมาเป็นผู้รับผิดชอบ โดยใช้เทคโนโลยีเผาตรงระบบปิดแบบสุญญากาศเช่นเดียวกับที่ขอนแก่น และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วดังเช่นที่กล่าวข้างต้น อันเป็นโมเดลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนต้นแบบที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชุมชนและหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือผลกระทบใดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแน่นอน โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 รองรับการนำขยะมากำจัดได้สูงสุดวันละ 450 ตัน เทคโนโลยีเผาตรงระบบปิด ไร้กลิ่น ไร้มลพิษ ไร้น้ำเสีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจุดเด่นโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแห่งนี้ คือ การใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าแบบ Direct..Incineration..ที่เป็นวิธีการเผาตรงระบบปิดแบบสุญญากาศ สามารถกำจัดขยะที่มีความชื้นได้สูงถึง 80% ที่สำคัญคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะตลอดกระบวนการของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ด้วยระบบ Negative Pressure ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีการปล่อยน้ำออกนอกโครงการ โดยมีการบำบัดน้ำแบบครบวงจรและนำกลับมาใช้ตามหลัก Zero Discharge พร้อมติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศเชื่อมสัญญาณตรงไปยังกรมโรงงาน มอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง จึงปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้างเป็นอย่างมาก


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.