• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Research Highlight

หัวข้อ

รายละเอียด

ชื่อโครงการ

MU-SDGs Case Study

เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Solar Powered Boat to Promote Sustainable Tourism Policy)

 

แหล่งทุน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ส่วนงานหลัก

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์

ผู้ดำเนินการหลัก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันต์ ปานประยูร

ผู้ดำเนินการร่วม

- องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3

- กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก (ชุมชนชายฝั่ง ตาม พรบ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558)

 

คำอธิบาย

การถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับ อพท. และชุมชนชายฝั่งเกาะหมาก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือจัดการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ปะการัง เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของเรือยนต์ โดยปราศจากการปลดปล่อยคาร์บอน การปนเปื้อนเขม่าจากการเผาไหม้ลงสู่แนวปะการัง และส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เนื้อหา MU-SDGs Case Study

 

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ

เกาะหมากเป็นพื้นที่ต้นแบบขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในการยกระดับพื้นที่เกาะหมากเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) โดยขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก ผู้ประกอบการโรงแรม/รีสอร์ท ชาวบ้าน/ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเกาะหมากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขนส่งและการท่องเที่ยวด้วยเรือยนต์ โดยเมื่อเชื้อเพลิงถูกเผาไหม้แล้วจะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศส่งผลต่อการเกิดภาวะเรือนกระจก รวมถึงคราบเขม่าและคราบน้ำมันที่ตกลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและปะการัง

การลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากการท่องเที่ยว จึงเป็นอีกแนวทางที่สำคัญในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเป็นกลไกผลักดันเกาะหมากเข้าสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  โดยเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และประชาคมเกาะหมาก และสร้างแผนยุทธศาสตร์และแผนการนำเทคโนโลยีเรือพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป

การดำเนินการ

1) ต่อเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แสดงขั้นตอนการทำงาน ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมาย

2) จัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อพท. และชุมชนชายฝั่ง

ผลการดำเนินงาน
โครงการเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้ทำการสร้างเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบคาตามารานขนาดยาว 7.5 เมตร กว้าง 3.5 เมตร ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.4 kWp ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ PMSM ขนาด 4 kW จำนวน 2 เครื่อง ส่วนผลจากการทดสอบวิ่งในเส้นทางอ่าวนิด-เกาะขายหัวเราะ มีระยะทาง 8.15 กิโลเมตร รวมทั้งการเข้าออกท่าเรือ และการบังคับเรือไปตามแนวสภาพร่องน้ำของเกาะในสภาพมีคลื่นลมเล็กน้อยถึงปานกลาง พบว่า เรือมีการตอบสนองต่อการขับเคลื่อนที่ดีในเกณฑ์ปกติ มีสมดุลดี ผู้โดยสารยังสามารถเดินไปมายังส่วนต่าง ๆ ทำกิจกรรมได้ในช่วงการทดสอบ เรือสามารถทำความเร็วสูงสุดในการเดินทางได้ 8.33 km/h มีความเร็วเฉลี่ย 6.26 km/h ใช้พลังงานไฟฟ้า 2.54 kWh ใช้กำลังมอเตอร์เฉลี่ยที่ 1.89 kW มีค่าความเข้มแสงเฉลี่ย 405.97 W/m2 ค่า insolation 6.97 kWh ประจุแบตเตอรี่ได้ 1.31 kWh ระบบมีประสิทธิภาพ 18.80% เรือสามารถวิ่งต่อเนื่องโดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียวได้ 5 ชั่วโมง 45 นาที และเดินทางได้ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร ครอบคลุมเส้นทางท่องเที่ยวทั่วไปของเกาะหมาก

สำหรับการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงนโยบาย สัมมนาเชิงปฏิบัติการ สร้างแผน ยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดทางเลือกแผนการบริการเชิงพื้นที่การนำเรือไปประยุกต์ใช้เชิงปฏิบัติเพื่อส่งเสริม นโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากตัวแทนองค์กรภาครัฐ หน่วยงานกำกับ และผู้มีส่วนได้เสียกับการพัฒนาพื้นที่ ด้วยประชาคมเกาะหมากต้องการพัฒนาการท่องเที่ยว แบบ Low carbon เพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จากการวิเคราะห์ทางเลือกยุทธศาสตร์ 4 ทางเลือก สรุปได้ว่าทางเลือกที่เหมาะสม คือ ทางเลือกยุทธศาสตร์ที่ 4: B2 “การท่องเที่ยววิถีชุมชนคาร์บอนต่ำ (Local Autonomous Low-carbon Tourism)”


การพัฒนาแนวทางการยกระดับขีดความสามารถการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเกาะหมาก ภายใต้เงื่อนไขทัศนภาพ B2 มีเป้าหมายคือ “ลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนของเกาะหมาก” เมื่อเทียบกับข้อมูลการปลดปล่อยคาร์บอนของเกาะหมากในปี 2555 โดยมีแนวทางในการที่จะบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้


1. แนวทางด้านสังคม: 1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคคลทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในมิติที่ครอบคลุม 2) ส่งเสริมการสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แนวคิด การดำเนินงาน ให้แก่ทุกองค์กร/ภาคส่วน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่การลดการปลดปล่อยคาร์บอน


2. แนวทางด้านเทคโนโลยี: 1) พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะช่วยสร้างแหล่งเพาะปลูก เพาะเลี้ยง ตลอดจนตลาดซื้อ ขาย-แลกเปลี่ยน สินค้าอาหารสดพืชผักที่ผลิตบนเกาะหมากเอง ลดปริมาณคาร์บอนจากการขนส่งข้ามทะเล
2) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการคมนาคมภายในบริเวณเกาะ และพื้นที่ชายฝั่ง เป็นยานพาหนะที่มีการปลดปล่อย คาร์บอนต่ำ เช่น การใช้รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า 3) การพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงาน เช่น สนับสนุนโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิต biodiesel จากน้ำมันพืชใช้แล้ว 4) พัฒนาระบบจัดการของเสียที่เหมาะสม เช่น การคัดแยกขยะ บำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะ เพื่อลดการปลดปล่อยมีเทน มาตรการลดการใช้ขวดแก้วซึ่งมีน้ำหนักมาก มูลค่าต่ำ ไม่คุ้มค่าในการนำกลับไปกำจัดที่ฝั่ง


3.แนวทางด้านสิ่งแวดล้อม: 1) ส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์แหล่งกักเก็บคาร์บอน เช่น การอนุรักษ์ป่าสนับสนุนทุ่นจอดเรือเพื่ออนุรักษ์แนวปะการัง อนุรักษ์พื้นที่หญ้าทะเล 2) ส่งเสริมกิจกรรมฟื้นฟู และเพิ่มเติม แหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ เช่น กิจกรรมปลูกปะการัง ปลูกหญ้าทะเล 3) ส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 3.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการปกป้องแนวปะการัง เช่น ฐานทุ่นซีเมนต์ ทุ่นผูกเรือ ทุ่นไข่ปลา 3.2) ส่งเสริมมาตรฐานต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น Green hotel เมนูอาหาร low carbon สนับสนุนเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลก


4. แนวทางด้านเศรษฐศาสตร์: 1) การสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวและส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ 1.1) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวแบบ low carbon เช่น เรือใบ เรือไฟฟ้า 1.2) พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กิจกรรมการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การดำน้ำ การล่องเรือ การปลูกหญ้าทะเล การปลูกปะการัง ด้วยเรือใบ เรือไฟฟ้า


5. แนวทางด้านการจัดการ (นโยบาย และการเมือง): 1) สร้างแผนยุทธศาสตร์สำหรับการท่องเที่ยวยั่งยืนของเกาะหมาก 2) พัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการใช้ยานพาหนะทางทะเล โดยใช้กระบวนการบริหารจัดการของ พรบ. ส่งเสริมการบริหารจัดการ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เช่น สนับสนุนการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าในการดำเนินกิจกรรมทางทะเล เครื่องมือ กลไก การดำเนินงาน ได้แก่ เครื่องมือ กลไก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของเกาะหมากแบ่งเป็น
- เชิงนโยบาย ได้แก่ 1) การออกกฎกระทรวงให้บริเวณทะเล ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูดเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ... ตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหาร จัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งชุมชนสามารถมีส่วนร่วมเสนอข้อห้ามต่าง ๆ ไว้ในกฎกระทรวงได้ เช่น การห้ามทำประมงในเขตแนวปะการัง หรือห้ามเรือประมงพาณิชย์เข้ามาทำประมงภายใน อาณาเขตทางทะเลของเกาะหมาก หรือห้ามไม่ให้มีกิจกรรมสันทนาการด้วยเรือยนต์ เจ็ทสกีภายในแนวปะการัง เป็นต้น
- เชิงการจัดการ ได้แก่ 1) การสร้างมาตรการจูงใจ เช่น การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดประกวดรีสอร์ท low carbon 2) จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ภาคเอกชนในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
การนำไปใช้ประโยชน์
1) การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีเรือไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงนโยบายเพื่อสร้างแผนยุทธศาสตร์ โดยมี ตัวแทนองค์กรภาครัฐ หน่วยงานกำกับ และผู้มีส่วนได้เสียกับการพัฒนาพื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 30 คน
2) มีการพัฒนายุทธศาสตร์ “การท่องเที่ยววิถีชุมชนคาร์บอนต่ำ (Local Autonomous Low-carbon Tourism)” ให้แก่ ชุมชน โดยเสนอเครื่องมือและกลไกทั้งในเชิงการบริหารจัดการและเชิงนโยบายเพื่อเป็นแผนแม่บท (Master Plan) ซึ่งเป็นแผนที่เกิดจากการรวมแผนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

อยู่ระหว่างจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

Abstract
The Solar Powered Boat to Promote Sustainable Tourism Policy project aims to transfer solar-powered boat technology to the Designated Areas for Sustainable Tourism Administration (Public Organization) and Koh Mak community and to create a strategic plan and plan for utilizing solar-powered boat technology to promote sustainable tourism policy. The solar-powered catamaran size 7.5 m x 3.5 m was built and installed a 2.4 kWp solar power generation system. The boat can be continuously operated, powered by a battery for 5:45 hours with 35 km of distance, covering the general tourist routes of Koh Mak. The workshop was organized to transfer solar-powered boat technology to the target group, the activity also included local policy development process. The solar-powered boat technology was an activity under the strategy of transition to electric vehicles to reduce CO2 emissions. The analysis of four strategic alternatives found that the appropriate strategic alternative was strategic alternative 4: B2 “Local Autonomous Low-carbon Tourism”. The goal was to reduce the amount of CO2 emission of Koh Mak”, compared with the database of Koh Mak’s CO2 emissions in 2012. There were two main approaches to achieving strategic goals directly related to the transition to electric vehicles to reduce CO2 emissions of tourism. Technology approach was the modification of the transportation within the island and coastal areas to low-carbon emission vehicles, such as electric vehicles, electric motorcycles, and electric boats. Environmental approach was promoting the use of electric boats in marine activities such as corals and seagrasses plantation for sustainable tourism. The implementation of the project promoted knowledge, understanding, and success in conservation, restoration, and biodiversity enhancement to Koh Mak Coral Conservation Group. High-value tourism initiatives emerged based on social and environmental responsibility tourism. Quality tourists were impressed and needed to come back again. The tourism income of Koh Mak increased, and Koh Mak tourism developed to be quality tourism that focused on value and sustainability.

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

เรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เป็นเรือที่ไม่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล  ในขณะใช้งานจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าเรือยนต์ รวมถึงเรือไฟฟ้าที่เป็นระบบชาร์จอีกด้วย

ผลกระทบในระดับชุมชน ประเทศ ระดับโลก

1) ในเชิงพื้นที่: ชุมชนชายฝั่งใช้เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในการจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ และการฟื้นฟูปะการังรอบเกาะหมาก

2) ในเชิงนโยบาย: สร้างตัวอย่างและรูปแบบการใช้งานเรือไฟฟ้าให้หน่วยงานที่มีการใช้งานเรือ เช่น ใช้เรือไฟฟ้าเข้าสู่เขตปะกะรังที่มีความอ่อนไหวในพื้นที่อุทยานฯ หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าในประเทศ การใช้ประโยชน์สาธารณะของ อพท. ในการส่งเสริมเกาะหมากเป็นตามเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืน และขยายผลในพื้นที่อื่น และประชาคมเกาะหมากใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่โดยการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวแบบ Low carbon

SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม

13

SDGs อื่น ๆ ที่สอดคล้อง

7 14

 

Key Message

การดำเนินการกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่ง   เป็นเรือที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง และในขณะที่ใช้งานไม่มีการปลดปล่อยคาร์บอน จึงเป็นส่วน หนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม

Links ข้อมูลเพิ่มเติม

 

https://www.dmcr.go.th/detailAll/57918/nws/257

https://th.postupnews.com/2022/04/nrct-solar-electric-boat.html

https://dkmmap.nrct.go.th/dkmmap-2021/project-detail.php?pid=64-087

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ 1 Global Research and Innovation

อัลบั้มภาพ

   

Partners/Stakeholders

- อพท.8 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
- สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด
- องค์การบริหารส่วน ตำบลเกาะหมาก
- วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก
- กลุ่มอนุรักษ์ปะการัง ชุมชนชายฝั่งเกาะหมาก

ตัวชี้วัด THE Impact Ranking

7.4.1, 7.4.4, 14.3.4, 14.5.4


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.