• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

การพัฒนาระบบการประเมินความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

การพัฒนาระบบการประเมินความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

Developing a Sustainability Evaluation Mechanism for Institution of Higher Education in Thailand (2019) 

โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาระบบการประเมินความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ดำเนินงานโดยคณะผู้วิจัย ได้แก่ อ. ดร. อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน สังกัดคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.อลิษา สหวัชรินทร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.ดร.สัณห์ รัฐวิบูลย์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2562 ระยะเวลาระหว่างวันที่ 30 ส.ค. 2562 - 29 ส.ค. 2563 มีที่มาและความสำคัญจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งในเชิงขนาด ที่ตั้ง และวัฒนธรรม ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการประเมินคะแนนความยั่งยืนที่ปรากฎใน UI Green Metric จึงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการประเมินความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และสามารถนำไปประยุกต์ในบริบทความหลากหลายของสถาบันการศึกษา ดังนั้นการวิจัยในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สามารถนำไปประยุกต์ในบริบทความหลากหลายของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย รวมทั้งเผยแพร่ระบบการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาของโครงการสู่สาธารณะ

โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีที่ตั้งทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ได้แก่  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการวิจัย มีรายละเอียดวิธีการดำเนินงานประกอบด้วย การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การพัฒนา (ร่าง) ระบบการประเมินความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษา การทดสอบระบบประเมิน และการเผยแพร่ผลลัพธ์โครงการ

ผลสำเร็จของงานวิจัยมีผลลัพธ์ที่นำไปใช้ประโยชน์สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม กล่าวคือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐขนาดใหญ่และขนาดกลางจะมีทางเลือกเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนซึ่งประกอบด้วย Best Practice หรือตัวชี้วัดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ สถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็กมีระบบนำทางที่พิจารณาถึงข้อจำกัดสถาบันที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการประเมินความยั่งยืนสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชนสามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทนได้ในระยะยาว นอกจากนั้นยังมีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 6 7 และ 8 โดยพบว่าสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และระบบการบริหารจัดการองค์กร มีกลไกสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดี การจัดการขยะและน้ำเสีย รวมทั้งมีระบบการศึกษาที่ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดด้านการจัดการน้ำและสุขาภิบาล ด้านพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ และด้านการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อ.ดร. อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน อีเมล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือรับชมได้ทางออนไลน์ที่ http://susathai.net/


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.