• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Link Post Format

อุทยานธรณีสตูล

อุทยานธรณีสตูล

นักวิจัย

  • ผศ.ดร.ปรมิตา พันธ์วงศ์
  • รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์

 อุทยานธรณีสตูล

“อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่ และชายหาดที่สวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้

ผืนดินแห่งนี้ได้บันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่าเกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้นต่อมามีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขา และถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบันผู้คนก็ยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่ และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561 UNESCO ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้พื้นที่แหล่งธรณีวิทยาของจังหวัดสตูลเป็นอุทยานธรณีโลก อุทยานธรณีสตูลเกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่จังหวัดสตูลที่มีแหล่งมรดกทางธรณีวิทยาที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญหลายแห่ง เช่น ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกวังสายทอง ปราสาทหินพันยอด ฯลฯ โดยการสนับสนุนทางวิชาการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งชุมชนและองค์กรท้องถิ่นที่มีแหล่งมรดกทางธรณีเหล่านี้ได้รวมตัวกันพัฒนาเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์แหล่ง มีการพัฒนาการบริหารจัดการการศึกษาและการสื่อความหมายแหล่งการท่องเที่ยวและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

 

ที่ตั้ง ถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9 บ้านควนดินดำ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 27 กิโลเมตร ตามถนนที่ลาดยางตลอดสายจนถึงบริเวณถ้ำตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูน ในเขตทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งเรียกว่า เขาบรรทัด ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันนัก ความสูงจากพื้นราบถึงปากถ้ำประมาณ 50 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางจากพื้นราบถึงจุดเข้าถ้ำประมาณ 20 นาที

ชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร” เนื่องจากถ้ำมีความยาว ลักษณะคดเคี้ยว แบ่งเป็นหลายตอน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย เมื่อกระทบกับแสงไฟ ผนังถ้ำมีประกายแวววาวเหมือนเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำเพชร ภายหลังชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า ถ้ำภูผาเพชร

ประวัติ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ครอบครัวของนายช่วงและนางแดง รักทองจันทร์ ได้ย้ายเข้ามาอาศัยบริเวณถ้ำยาวเป็นครอบครัวแรก ในปีพ.ศ. 2535 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาตั้งสำนักบริเวณถ้ำยาว อยู่ได้หนึ่งปีก็จากไป ก่อนจากไปท่านได้บอกชาวบ้านว่าได้เห็นทางเข้าไปในถ้ำยาว มีถ้ำน้อยใหญ่อีกหลายถ้ำ บางถ้ำมีพื้นที่กว้างขวางสวยงาม กระทั่งปี พ.ศ.2540 นายศักดิ์ชัย บุญคง สมาชิก อบต. ตำบลปาล์มพัฒนาได้ทำการสำรวจร่วมกับทางราชการและราษฏรถ้ำภูผาเพชรจึงได้เปิดโฉมหน้าให้คนทั่วไปได้รู้จักกันทุกวันนี้

1. ห้องเสาค้ำสุริยันและห้องหัวพญานาค

เป็นเสาหินที่มีขนาดสูงใหญ่จึงได้ชื่อว่า “เสาค้ำสุริยัน” การเกิดของเสาหิน (cave column) เกิดจากเมื่อหินงอกหินย้อยมารวมเข้าด้วยกันโครงสร้างภายในของหินงอกหินย้อยตามแกนการเติบโตมักประกอบด้วยวงแหวนศูนย์กลางรอบช่องกลวง วงแหวนเหล่านี้แสดงถึงการเติบโตของหินงอก

 

หินย้อยรูปร่างคล้ายหัวพญานาคเป็นหินน้ำไหลขนาดใหญ่ประกอบด้วยหินย้อยหลายรูปแบบทั้งแบบที่เป็นม่านหินย้อยและรูปร่างแบบลูกชินรักบี้ 

2. ห้องม่านเพชร

3. ห้องปะการัง

ปะการังถ้ำ (Subaerial cave corals) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการสะสมตะกอนถ้ำแบบรูพรุนที่พัฒนาขึ้นเมื่อสารละลายซึมออกมาจากผนังถ้ำโดยสะสมชั้นของผลึกแคลไซต์ท่อแคปิลลารีไม่ก่อตัวและการเติบโตสามารถพัฒนาได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่มีเนื้อหยาบและอาจคล้ายกะหล่ำดอก

หินงอกน้ำกระจาย (splashing stalagmite) หินงอกก่อตัวขึ้นเมื่อน้ำที่มีแร่แคลไซต์กระเด็นลงบนพื้นรูปร่างของหินงอกขึ้นอยู่กับแรงโน้มถ่วง (หินงอกมีลักษณะปลายมนในขณะที่หินย้อยมีลักษณะแหลม) และมักจะมีถ้วยสาดอยู่ที่ส่วนท้ายหรือคล้ายกับเทียนจากการโปรยลงของน้ำแร่

ทำนบน้ำ (Rimstone) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Gours เกิดจากการที่หินน้ำไหลเป็นประเภทของตะกอนถ้ำ ในรูปแบบของเขื่อนหินทำนบน้ำเกิดจากน้ำที่ไหลลงมาตามความลาดชันชั้นน้ำบางมากบนพื้นที่ค่อนข้างใหญ่มีพื้นผิวขนาดใหญ่ เนื่องจากพื้นผิวขนาดใหญ่ทำให้น้ำสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศในถ้ำและเป็นผลให้แคลไซต์ตกตะกอนเกิดทำนบน้ำขนาดใหญ่ติดต่อลดหลั่นกันลงมา

 

4. ห้องวังค้างคาวและโคมศิลาเพชร

ห้องชมค้างคาว เป็นลานขนาดกว้างพื้นถ้ำเดิมที่ได้รับอิทธิพลของน้ำและมีร่องรอยพื้นถ้ำยุบตัวลงในอดีตมีค้างคาวอาศัยบนเพดานถ้ำจำนวนมาก

โคมศิลาเพชร เป็นหินงอกลักษณะคล้ายโคมไฟสีเหลืองขนาดใหญ่ยังมีน้ำละลายแคลเซียมคาร์บอเนตไหลผ่านเพดานถ้ำมาทับถม  

5. ห้องดอกบัวคว่ำ

ดอกบัวคว่ำเป็นกลุ่มหินย้อยและบริเวณฐานเป็นหินงอกน้ำไหลที่มีสีสรรแปลกตาการก่อตัวของหินย้อย-หินงอกเกิดขึ้นภายใต้สภาวะความเป็นกรด-ด่าง กลุ่มหินย้อยก่อตัวโดยการสะสมของแคลเซียมคาร์บอเนตและแร่ธาตุอื่นๆ ซึ่งตกตะกอนจากสารละลายน้ำแร่

6. ห้องลานเพลิน

ลานเพลินเป็นหินย้อยประเภทหินน้ำไหล (flowstone) สารละลายของน้ำที่เคลื่อนที่ไปตามพื้นหรือผนังที่ลาดเอียงทำให้เกิดชั้นแคลเซียมคาร์บอเนต (แคลไซต์) แร่ธาตุเหล่านี้จะละลายในน้ำและจะถูกทับถมเมื่อน้ำสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายน้ำไปจึงทำให้แร่ธาตุเหล่านี้สะสมอยู่ หินน้ำไหลมักเป็นสีขาวหรือโปร่งแสงแต่อาจมีสีต่างๆ จากแร่ธาตุที่ละลายในน้ำ

7. ห้องอ่างศิลาน้อยและห้องอ่างศิลาใหญ่

 

อ่างศิลาน้อยเกิดการตกผลึกของแร่แคลไซต์คลุมพื้นผิวและผนังถ้ำบนผนังถ้ำยังมีการแตกของเพดานถ้ำทำให้เกิดหินย้อยและรวมทั้งหินย้อยแบบหลอดโซดา

อ่างศิลาใหญ่ (Rimstone Pools) เกิดจากน้ำที่ไหลลงมาตามความลาดชัน ชั้นน้ำบางมากบนพื้นที่ค่อนข้างใหญ่มีพื้นผิวขนาดใหญ่ เนื่องจากพื้นผิวขนาดใหญ่ทำให้น้ำสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศในถ้ำและเป็นผลให้แคลไซต์ตกตะกอนเกิดทำนบน้ำขนาดใหญ่ติดต่อลดหลั่นกันลงมา

8. ลานแสงมรกต

 

เป็นไฮไลต์ของถ้ำภูผาเพชรแห่งหนึ่งเป็นลานโล่งกว้างด้านเหนือของถ้ำเกิดจากบริเวณผนัง/หลังคาถ้ำทางด้านเหนือเกิดการถล่มตัวลงมาของหินขนาดใหญ่ทำให้แสงผ่านเข้ามาได้มีรูปร่างคล้ายหัวใจจึงทำให้เกิดตะไคร่น้ำและพืชสีเขียวขนาดเล็กติดตามก้อนหินขนาดใหญ่ที่ถล่มลงมาเคลือบเป็นสีเขียวคล้ายมรกต

9. ห้องพญานาคพัน

อยู่ด้านในลึกสุดของถ้ำภูผาเพชรปรากฎร่องรอยน้ำโบราณ สันนิษฐานว่าเป็นระดับน้ำในอดีตที่ท่วมแช่ขังพื้นที่โถงนี้เป็นเวลายาวนานมากและเมื่อถ้ำมีการวิวัฒนาการเกิดการยกตัวของแผ่นดินหรือการทรุดตัวของของแผ่นดินรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำ ร่องรอยนี้ยังปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนจนถึงปัจจุบัน

CO2

มีผลต่อการหายใจของผู้มาเยือนถ้ำและการเกิดหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ ปกติถ้ำที่มีเพดานสูงหรือมีน้ำไหลผ่านจะมีปริมาณ CO2 อยู่ประมาณ 300 - 600 ppm  โดยทั่วไปปริมาณ CO2 สูงกว่า 1,000 ppm อาจทำให้เกิดการหายใจที่ไม่สะดวก ภายในถ้ำปกติสภาพอากาศจะค่อนข้างสม่ำเสมอมากกว่าสภาพอากาศนอกถ้ำ ถ้ำภูผาเพชรพบว่าปริมาณ CO2  จากบริเวณปากถ้ำจนลึกเข้าไปในถ้ำจนสุดห้องมรกต มีค่าประมาณ 400-600 ppm ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับผู้มาเยือน และควรที่จะทำการตรวจวัดอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยในช่วงที่มีผู้มาเยือนหนาแน่น เพื่อจะใช้เป็นปัจจัยในการจัดการการเที่ยวถ้ำ

อุณหภูมิภายในถ้ำ

อุณหภูมิภายในถ้ำส่วนมากจะสม่ำเสมอทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน เนื่องจากถ้ำส่วนมากจะมีช่องเปิด เพียง 1 ช่อง คือช่องทางเข้า หรือ 2 ช่อง คือช่องทางเข้าและช่องทางออกด้านท้ายถ้ำ จึงทำให้อุณหภูมิภายในถ้ำค่อนข้างสม่ำเสมอเมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมินอกถ้ำที่จะผันแปรไปตามช่วงเวลา แต่อุณหภูมิภายในถ้ำอาจสูงขึ้นเนื่องจากการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในถ้ำ เช่นการใช้หลอดไฟส่องสว่าง การใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากอาจส่งผลให้อุณหภูมิในถ้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากค่าเฉลี่ยปกติ อุณหภูมิในถ้ำที่สูงขึ้นส่งผลต่อการระเหยของน้ำภายในถ้ำซึ่งส่งผลต่อการเกิดหินย้อยหินงอกและอาจส่งผลกระทบต่อทั้งผู้เข้ามาเยือนถ้ำและสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่อาศัยในถ้ำตลอดช่วงชีวิต

 

 

 

 

 

 


Accordion Menu

Newsletter Subscribe

© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.