• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ฝ่าวิกฤตอาหารโลก "สินค้าเกษตรไทย" ส่งออกโตขึ้นกว่า 23% ตอกย้ำเป้าหมายความเป็น "ครัวของโลก"

สถานการณ์อาหารราคาแพงนำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางอาหาร (สภาวะที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี)เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายต่อหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ไทยเราได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและปัจจัยการผลิตที่นำเข้าราคาปรับขึ้น ส่งผลให้สินค้าในประเทศหลายอย่าง รวมถึงพวกอาหารราคาปรับขึ้นตาม แต่ด้วยบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งผลิตอาหาร ทำให้เราไม่เผชิญภาวะขาดแคลน มีอาหารเพียงพอ อาจแพงขึ้นบ้างตามกลไกตลาดและอีกแง่หนึ่งจากวิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้นกลับทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นด้วย

สภาพปัญหาและสาเหตุของวิกฤตอาหารโลก

เมื่อเดือนที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้เผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงวิกฤตราคาอาหารแพงทั่วโลก ระบุว่าดัชนีราคาอาหาร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้า อาหารและโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล เดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 13% จากเดือนกุมภาพันธ์ และราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน 2565 กับเดือนเมษายน 2564

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 มิถุนายน 2565

ราคาอาหารที่แพงขึ้นนำมาสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร ประชาชนต้องเจียดรายได้มาจ่ายค่าอาหารมากขึ้น สำหรับประเทศที่ประชาชนมีรายได้มากและค่าครองชีพมีความสอดคล้องกัน อาจส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่ในประเทศรายได้น้อยได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด

ราคาอาหารสูงขึ้นแต่ประชาชนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหารและนำไปสู่ปัญหาความอดอยากได้ เฉพาะในประเทศเอเชียแปซิฟิก FAO ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารแพงและการขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 ล้านคน โดยนักวิเคราะห์ของ FAO ระบุว่า นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดวิกฤตที่เรียกว่า The Great (Food) Shortage หรือภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ของโลกได้

ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มองสาเหตุหลักของวิกฤตอาหารโลกในครั้งนี้มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วง 2-3 ปีมานี้ ทำให้ภาคการผลิตและส่งออกอาหารชะลอตัวลงอย่างมาก แม้ขณะนี้การแพร่ระบาดซาลงมากแล้ว แต่หลายประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การส่งออกอาหารจึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก กอปรกับสาเหตุสำคัญอีกอย่างคือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่นอกจากทำให้ราคาน้ำมันและก๊าชในตลาดโลกเพิ่มสูงต่อเนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซียแล้ว ทั้ง 2 ประเทศยังเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวสาลีและปุ๋ย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าผลิตผลกว่า 19 - 34 ล้านตันจะหายไปในปีนี้ และจะหายถึง 43 ล้านตันในปี 2566 จากการที่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว การผลิตและส่งออก เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปขายต่างแดนผ่านท่าเรือในทะเลดำต้องหยุดชะงักลง จากการถูกเรือรบของรัสเซียปิดล้อม ดังนั้นหลายประเทศ เช่น มองโกเลีย อาร์เมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรเคีย ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครน ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

สงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงถือเป็นตัวเร่งให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหลายด้าน รวมถึงแนวโน้มวิกฤตอาหารโลกที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ผลักดันให้หลายประเทศต้องออกนโยบายห้ามส่งออกอาหาร เพื่อรักษาสมดุลอาหารเลี้ยงคนในประเทศ โดยข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พบว่า ขณะนี้มีประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง อินโดนีเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันเพื่อการบริโภครายใหญ่สุดของโลกประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มสำหรับทำอาหาร, คาซัคสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลีเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ขณะที่อาร์เจนตินา ผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก จำกัดการส่งออกเนื้อวัว จนถึงปี 2566 ส่วนอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี

ไทยอาหารเพียงพอ ส่งออกสินค้าเกษตรโตขึ้นกว่า 23%

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก อาหารจึงมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและหากมองในมุมวิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้น กลับเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโตขึ้น ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญและมีเป้าหมายสู่การเป็นครัวของโลก เห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรก ปี 2565 เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยสินค้าเกษตรไทยส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 418,883 ล้านบาท เป็น 516,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97,244 ล้านบาท หรือ 23.22% กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูน่าปรุงแต่ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้

อย่างไรก็ตาม ไทยได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบผ่านกลไกในรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ มีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศไว้อยู่แล้ว

รัฐบาลหนุนปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ เพิ่มศักยภาพส่งออกสู่ตลาดโลก

สินค้าทางการเกษตรจำพวกอาหาร ข้าวยังเป็นสินค้าสำคัญลำดับต้นๆ ของไทย ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นและช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดโลก โดยข้าวพันธุ์ใหม่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดเลือกมาจากการประกวดทั่วประเทศ ได้มาแล้ว 6 พันธุ์(จากเป้าหมาย 12 พันธุ์)? ใน 3 ประเภท คือข้าวหอมไทย ข้าวหอมพื้นนุ่มและข้าวขาวพื้นแข็ง จากนั้นได้นำข้าวพันธุ์ใหม่ทั้ง 6 พันธุ์กระจายให้ชาวนาทำการปลูก คาดว่าภายใน 1 ปี ข้าวพันธุ์ใหม่ดังกล่าวจะออกสู่ตลาดช่วยเพิ่มศักยภาพ-คุณภาพของข้าวไทยในตลาดโลกต่อไป ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้นโยบายกับชาวนาดีเด่นแห่งชาติที่เข้าพบเนื่องในโอกาสวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยขอให้นำความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดพัฒนาสร้างมูลค่าผลผลิตข้าวให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถช่วยขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้มีความมั่นคง ส่วนเรื่องพันธุ์ข้าว ขอให้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ทั้งหมดที่ว่ามา แม้ไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤตอาหารโลก ในอีกแง่กลับส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะพวกอาหารเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ถือว่าการส่งออกที่มากขึ้นของไทยมีส่วนช่วยผ่อนคลายวิกฤตอาหารโลกลงได้บ้าง และยังเป็นส่วนช่วยตอกย้ำเป้าหมายสู่ความเป็นครัวของโลกได้เป็นอย่างดี


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.