• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมในทิศทางเดียวกัน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 มิถุนายน 2565

นายอรรถพล เจริญชันญา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยภายในงานสัมมนาวิชาการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า ถือเป็นการผลักดันการใช้ประโยชน์จากการศึกษาวิจัย ตั้งแต่ปี 2563 ที่ได้มีการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมทางน้ำ อากาศ และขยะสำหรับประเทศไทย รวมถึงมุ่งเน้นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การใช้วิทยาศาสตร์การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการบูรณาการผลผลิตเพื่อให้เกิดความสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด จึงได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆมาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้

ด้าน รศ.ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยถึงภาพรวมการศึกษาโดยใช้เครื่องมือและวิธีการมาตรฐานในการจัดเก็บตัวอย่างของฝุ่น PM2.5 ซึ่งได้มีการจัดเก็บในเขตพื้นที่ปริมณฑล 5 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครปฐม โดยพบว่า จังหวัดสมุทรสาครจะมีค่า PM2.5 สูงสุดในช่วงฤดูหนาว ขณะที่จังหวัดสมุทรปราการ ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงสุดในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน

ส่วน ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยกรณีแหล่งกำเนิดของ PM2.5 เกิดจากฝุ่นบริเวณใกล้ผิวดิน จึงมีนโยบายในการจัดเก็บฝุ่นในชั้นบรรยากาศ โดยจะไม่มีการเข้าใกล้แหล่งกำเนิด หรือหลักเลี่ยงสถานที่ที่อันตราย ซึ่งมีการจัดเก็บตัวอย่างฝุ่นโดยนำมาส่องกล้องขนาดเล็ก เพื่อสังเกตลักษณะของฝุ่นเป็นอย่างไร อีกส่วนนำมาเผา หลังจากนั้นนำตัวอย่างฝุ่นมาวิเคราะห์เพื่อหาองค์ประกอบทางเคมี เช่น Organic Carbon, Elemental Carbon ไอออนที่ละลายน้ำและธาตุอื่นๆ สำหรับการทำ Source Profiles เพื่อหาสัดส่วนแหล่งที่มาของ PM2.5 รวมถึงสังเกตผลและนำกระบวนการที่ได้มาเป็นฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยและหาวิธีการแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอความคิดเห็นและแนวทางการป้องกัน การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่แตกต่างกันออกไป แต่มีการเสนอผลลัพธ์ วัตถุประสงค์และผลการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.