• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สทนช. เร่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมทบทวนกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อปรับปรุงแผนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 มิถุนายน 2565

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมทบทวนกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อปรับปรุงแผนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและการแก้ปัญหาด้านน้ำในเชิงพื้นที่

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประชุมปฐมนิเทศ “โครงการศึกษาปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” ร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ โดยแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ดำเนินการมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องประเมินผลต่อเนื่องนำไปสู่เป้าหมายของการดำเนินการ ซึ่งผลการประเมินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาพบมีบางกลยุทธ์หรือแผนงานที่ยังไม่ได้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและยังไม่ได้ขับเคลื่อน แล้วบางกลยุทธ์ต้องปรับปรุงแผนงาน เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานคืนถิ่นนำไปสู่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ // ภาวะสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหารโลกนำไปสู่ความต้องการพืชอาหารบางประเภทและการใช้น้ำที่มากขึ้นในบางพื้นที่ // การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ได้บรรจุในแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปีเดิม จึงต้องปรับปรุงแผนใหม่ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศไทย

รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า กระบวนการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ครั้งนี้ เน้นกระบวนการ Co-Design และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การปรับแผนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่แผนปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านน้ำในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจากการอุปโภค-บริโภคน้ำสะอาด มีน้ำใช้สร้างรายได้ ลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.