สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 4 มีนาคม 2565
ที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ได้รับรองข้อมติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติกที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการเจรจา เพื่อมุ่งสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (INC)
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถึงการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ภายใต้หัวข้อ “Strengthening Actions for Nature to Achieve the Sustainable Development Goals” เพื่อมุ่งเน้นการฟื้นฟูธรรมชาติและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ว่า ถือเป็นประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติในการรับรองข้อมติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติกและเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งกระบวนการเพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (INC) ซึ่งประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจาของข้อมตินี้ ภายใต้นโยบายที่ชัดเจนของการดำเนินงานแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั้งระบบ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ตกลงร่วมกันจะจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (OEWG) เพื่อเตรียมงานของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลภายใน 6 เดือนแรกของปีนี้ และการจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) ครั้งแรกภายใน 6 เดือนหลังของปีนี้ด้วย สิ่งสำคัญที่ประชุมครั้งนี้ยังได้รับรองรายงานการประชุม UNEA 5.2 , รับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) และรับรองข้อมติ (Resolution) 14 ข้อมติ และ 1 ข้อตัดสินใจ (Decisions) โดยประเทศไทยได้เป็นผู้ร่วมอุปถัมภ์ข้อมติ 4 ข้อมติ คือ Resolution on the Sound Management of Chemicals and Waste // Resolution for a Science-Policy Panel to contribute further to the sound management of chemicals and waste and to prevent pollution // Resolution on the environmental dimension of a sustainable และสุดท้าย resilient and inclusive post COVID-19 recovery และ Resolution on an Enhancing Circular Economy as a contribution to achieving sustainable consumption and production
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย (National Statement) บนเวทีการประชุม UNEA 5.2 ครั้งนี้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากสถานการณ์การของโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และด้านมลพิษ ซึ่งประเทศไทยได้ใช้แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) มาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม