• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ค่าฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ 17 จังหวัด กลับมาสูงขึ้นกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอีกครั้ง ขณะที่ภาคอีสาน กทม. และปริมณฑล ค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในหลายพื้นที่

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 เมษายน 2566

ค่าฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ 17 จังหวัด กลับมาสูงขึ้นกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอีกครั้ง พบอยู่ในระดับสีแดง 20 พื้นที่ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในหลายพื้นที่

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (5 เม.ย.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหลังช่วง 2 วันที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เกินมาตรฐานในระดับสีแดง 20 พื้นที่ ใน จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา และเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ค่าฝุ่นเฉลี่ยประมาณ 91 – 356 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบสูงสุดที่ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยยังพบการเผาในเขตป่าจำนวนมาก , ผลกระทบจุดความร้อน (Hotspot) จากประเทศเพื่อนบ้าน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงให้เฝ้าระวังอาการผิดปกติ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงบริเวณภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านต้องเฝ้าระวังถึงวันที่ 12 เมษายน ซึ่งช่วงวันที่ 6 - 7 เมษายน ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะอากาศค่อนข้างปิด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น PM 2.5 ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน เกินมาตรฐานในระดับสีแดง 3 พื้นที่ ใน จ. เลย , หนองคาย และบึงกาฬ อยู่ที่ 96 - 124 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับตัวสูงขึ้นจากสภาพอากาศปิดบางพื้นที่ เกินมาตรฐานในระดับสีแดง 1 พื้นที่ บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน อยู่ที่ 99 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และระดับสีส้ม 25 พื้นที่ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.