• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 เมษายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (4 เม.ย.66) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งปีนี้ เช่น กองทัพบก ร่วมกับผู้นำชุมชน จัดกำลังพลจิตอาสาของหน่วยเข้าช่วยเหลือประชาชนในการแจกจ่ายน้ำช่วงภัยแล้ง 18,000 ลิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ หมู่ 2 ต.ท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี พร้อมร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองปาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนจิตอาสาในชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร “ฝายแม้ว” เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภค-บริโภค และลดปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้งในพื้นที่ คลองไพร ต.คลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลดผลกระทบพื้นที่ประกาศภัยแล้ง บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน และเตรียมแผนรองรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมด้วย หลังมีพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 1 อำเภอ คือ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยเป็นการประกาศเขตภัยแล้งจังหวัดแรกในปีนี้

ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) , ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ประสบภัยแล้ง และผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ ให้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนของทุกปีหลายพื้นที่อาจเกิดขาดแคลนน้ำได้ จึงขอให้ทุกพื้นที่เตรียมพร้อมทุกด้านทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ รองรับภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่ม ทั้งน้ำอุปโภค-บริโภคและพื้นที่เกษตร รวมทั้ง ขอให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับประชาชนในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัดน้ำต่อเนื่อง เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอช่วงหน้าแล้งนี้


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.