• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
โครงการ Net Zero School

โครงการ Net Zero School

โครงการ Net Zero School

 

  1. หลักการและเหตุผล

              ปัจจุบันทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะการเกิดภาวะโลกร้อน และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน (Global Warming) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ สาเหตุมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การคมนาคม เศรษฐกิจ การใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ ที่สูงขึ้น รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ สำหรับประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเท่ากับ 368 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ. 2568 (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 247 ล้านตัน (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ทั้งนี้ ผลการประเมินขององค์กร CAT (Climate Action Tracker) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือขององค์กรวิจัยนานาชาติ เพื่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ยังพบว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงถึง 4 องศาเซลเซียส และประเทศไทยยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางภูมิอากาศอีกด้วย

              คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ จึงได้จัดให้มีโครงการ Net Zero School โดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านกิจกรรมง่ายๆ ที่นักเรียนในโรงเรียนสามารถช่วยกันปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) หรือการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ โดยเฉพาะการฝึกฝนทักษะให้นักเรียนได้รู้จักคิดวิเคราะห์หาเหตุผล รูปแบบกิจกรรมจะเน้นการปฏิบัติ และฝึกฝนทักษะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้มีการจัดกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 โดยให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ จะมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมกำหนดกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในโรงเรียน หรือ Net Zero School โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และเจตคติที่ดีและถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายและแกนนำของเยาวชนในการสื่อสารไปสู่ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่นให้ร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

 

  1. วัตถุประสงค์
    • เพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในโรงเรียน
    • เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสำนึกในการร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน
    • เพื่อให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนาโรงเรียนของตนเองผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย รวมทั้งการสร้างแกนนำในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน

 

  1. 3. คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ

เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6

 

  1. 4. รูปแบบการจัดการกิจกรรม

         แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม โดยดำเนินการทำกิจกรรม ดังนี้

 

          กิจกรรมที่ 1 การจัดการขยะอย่างยั่งยืน

  • รวบรวมขยะทุกประเภทภายในโรงเรียน
  • ฝึกการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ
  • เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะตามหลัก 3Rs (Reuse, Reduce, Recycle)
  • วิธีการคำนวณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคัดแยกขยะ
  • ฝึกคิดค้นนวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากขยะ มุ่งสู่ Zero Waste โดยยึดหลัก Circular Economy

                   อุปกรณ์ที่ใช้ – ตาชั่ง ถุงดำ เชือก กระดาษ ดินสอ/ปากกา เครื่องย่อยขยะ

 

          กิจกรรมที่ 2 การจัดการน้ำเสีย

  • สำรวจจุดปล่อยน้ำเสียของโรงเรียน
  • การวิเคราะห์คุณสมบัติพื้นฐานของน้ำเสีย
  • การเก็บตัวอย่างน้ำเสีย
  • การวิเคราะห์คุณภาพน้ำเสียเบื้องต้น
  • วิธีการคำนวณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการน้ำเสีย
  • ร่วมกันคิดหาแนวทางการจัดการน้ำเสียในโรงเรียน

เช่น การทำถังกรองสำหรับดักไขมัน การกรอง/ดักเศษอาหารหรือขยะ

                   อุปกรณ์ที่ใช้ – กระดาษ ดินสอ/ปากกา กระบอกเก็บน้ำ เครื่องวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH meter) เครื่องวัดออกซิเจนในน้ำ (DO) การวิเคราะห์ค่า BOD ตะแกรง ชุดกรอง มีด/กรรไกร

          กิจกรรมที่ 3 การประหยัดพลังงาน

  • การสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าในโรงเรียน
  • มาตรการประหยัดพลังงานในโรงเรียน
  • วิธีการคำนวณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้า
  • การศึกษาแนวทางการใช้พลังงานทดแทน
  • แนวคิด/นวัตกรรมในการประหยัดพลังงาน
  • ฝึกการต่อวงจรแผง Solar cell ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง

                    อุปกรณ์ที่ใช้ – ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของโรงเรียน กระดาษ ดินสอ/ปากกา แผง Solar cell ขนาดเล็ก แบตเตอรี่ หลอดไฟ

 

          กิจกรรมที่ 4 การปลูกต้นไม้และการกับเก็บคาร์บอน

  • การวัดต้นไม้ทุกชนิดในโรงเรียน
  • การคำนวณการกักเก็บคาร์บอนในต้นไม้
  • การเก็บดิน และคำนวณคาร์บอนในดิน
  • การประเมินคุณสมบัติของดินเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวและผลิดอาหารปลอดภัยในโรงเรียน
  • หาพื้นที่พัฒนา pocket park ในโรงเรียน
  • วิธีการทำปุ๋ยหมัก การปลูกผักอินทรีย์ และการทำแปลงผักในโรงเรียน

อุปกรณ์ที่ใช้ – ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน (Soil Test Kit) สายวัด/ตลับเมตร สารจุลินทรีย์หรือสารเร่ง พด. ต่างๆ เมล็ดพันธุ์ปลูกผัก อิฐบล็อก จอบ เสียบ ส้อมพรวนดิน ช้อนปลูก บัวรดน้ำ โดรน (Drone) ชุดตรวจวัดระดับฝุ่น PM2.5

         

          กิจกรรมที่ 5 การจัดตั้งธนาคารขยะ

  • แนวทางการจัดตั้งธนาคารขยะ และวิธีดำเนินการ
  • รับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากสถานที่ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการธนาคารขยะ เช่น หมู่บ้านเอื้ออาทร ศาลายา นครปฐม
  • บทบาทสมมติ (Role Play) กระบวนการจัดตั้งธนาคารขยะของโรงเรียน
  • จัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) platform ของโรงเรียน

                    อุปกรณ์ที่ใช้ – กระดานฟลิปชาร์ทพร้อมกระดาษ ปากกาเคมี

 

  1. องค์กรจัดงาน

              คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

  1. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    • นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในโรงเรียนได้
    • นักเรียนมีจิตสำนึกในการร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน
    • นักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนาโรงเรียนของตนเองผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย รวมทั้งมีแกนนำในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนได้

 

  1. การประเมินผลสำเร็จโครงการ
  • Pre-Post Test เพื่อประเมินความรู้และความเข้าใจของนักเรียนทั้งก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
  • แบบประเมินผลรายกิจกรรม (ประเมินทุกกิจกรรม)
  • แบบประเมินผลการจัดโครงการโดยภาพรวม

 


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.