• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สทนช.ชี้การบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งปีนี้ พื้นที่นอกเขตชลประทานยังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ขณะที่ปริมาณน้ำภาพรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ด้านครม.เห็นชอบ 10 มาตรการรับมือหน้าแล้งปีนี้

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 พฤศจิกายน 2565

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยถึง 10 มาตรการรองรับหน้าแล้งปี 2565/2566 ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทั้ง 10 มาตรการแล้ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 เร่งรัดเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภททั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งประเทศอยู่ที่ 68,366 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 83 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 6,700 ล้านลูกบาศม์เมตร ดังนั้นในพื้นที่เขตชลประทานจึงไม่น่าเป็นห่วง ส่วนมาตรการที่ 2 การเฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน มาตรการที่ 3 ภารกิจเติมน้ำด้วยปฏิบัติการฝนหลวง มาตรการที่ 4 การกำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชหน้าแล้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเพาะปลูกเกินปริมาณน้ำที่มี มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตรส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มาตรการที่ 6 เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนองเพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนถึงช่วงฤดูน้ำหลากและเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก มาตรการที่ 7 การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ มาตรการที่ 8 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านบริหารจัดการน้ำของชุมชน มาตรการที่ 9 สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และมาตรการที่ 10 การติดตามประเมินผลในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการดำเนินงานตาม 10 มาตรการดังกล่าว ยังมีการเสนอเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงปี 2566 ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่มรองรับการดำเนินงานทั้ง 10 มาตรการข้างต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมสถานการณ์น้ำในปี 2565/2566 จะมีมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงขอความร่วมมือประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากยังมีบางพื้นที่ มีโอกาสขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.