สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 23 มิถุนายน 2565
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ย้ำ ประกาศควบคุมมาตรฐานเตาเผาศพใหม่มีผลบังคับใช้ในกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร และเขตเทศบาลเมืองก่อน เพื่อลดผลกระทบให้กับชุมชนบริเวณใกล้วัด ส่วนนอกเขตเทศบาลบาลมีผลในอีก 3 ปีข้างหน้า
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศเผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยให้มีผลใช้บังคับกับเตาเผาศพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร และเขตเทศบาลเมือง ส่วนพื้นที่อื่นๆนอกเขตเทศบาลจะมีผลบังคับใช้จากนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เนื่องจากเกิดปัญหาเกี่ยวกับเขม่าควันและกลิ่นจากการเผาศพมีอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่มีการเผาศพจำนวนมากและเผาพร้อมกันหลายวัด พบบางวัดเตาเผาศพยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ประชาชนในเขตชุมชนได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผาศพ เช่น กลิ่น ควัน ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ จนเกิดความเดือดร้อนและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชนใกล้เคียง ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้คำแนะนำคณะกรรมการควบคุมมลพิษเห็นสมควรปรับปรุงการกำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งพร้อมประชุมรับฟังความคิดเห็นจากสำนักงานสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติและทุกภาคส่วน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า สำหรับองค์ประกอบของกลิ่นเผาศพประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด เช่น แอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ เมอร์แคปแทน และฟอร์มาลดีไฮด์จากนํ้ายารักษาศพ ทั้งนี้ เตาเผาศพในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่สามารถควบคุมมลพิษได้ตามมาตรฐานอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเตาเผาแบบ 2 ห้องเผา แล้วผู้ควบคุมเตาเผาศพปลอดมลพิษต้องควบคุมอุณหภูมิตลอดการเผาศพให้สูงกว่า 800 องศาเซลเซียสด้วย