• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

นำเสนอเรื่องควรรู้ กัญชา-กัญชง ที่ถูกปลดให้พ้นจากยาเสพติดแล้ว พร้อมสนับสนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 มิถุนายน 2565

ตามที่ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป มีผลให้ “กัญชา” และ “กัญชง” พ้นจากการเป็นยาเสพติด ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยกเว้น “สารสกัด” จาก กัญชา-กัญชง ที่มีสาร THC (เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท) เกิน 0.2% ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มาประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดปลดล็อกให้พืชกัญชาและพืชกัญชง พ้นจากความเป็นยาเสพติด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาตั้งแต่ระดับครัวเรือน พร้อมกับสนับสนุนให้กัญชา-กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ยังคงมีการควบคุมการผลิตสารสกัดที่มีคุณภาพมาตรฐานและมีมาตรการป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด ต่อมาคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งจะปลดล็อกทุกส่วนกัญชา-กัญชง ออกจากความเป็นยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นสารสกัดของกัญชาที่มีค่า THC เกิน 0.2% จะยังถือว่าเป็นสารเสพติด จะมีการควบคุม ทำได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาต

หลังประกาศปลดล็อก สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างไร ประชาชนสามารถปลูกกัญชา-กัญชง ภายในบริเวณบ้านเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพได้ จะปลูกกี่ต้นก็ได้โดย ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่จดแจ้งผ่านทางเว็ปไซต์และแอปพลิเคชัน ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ชื่อว่า “ปลูกกัญ” ปลูกในเชิงพาณิชย์หรือปลูกเพื่อขายได้ แต่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขก่อนปลูก ผ่านทางเว็ปไซต์และแอปฯ “ปลูกกัญ” การนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ส่วนอื่นๆ ของพืช เช่น ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และหากเป็นสารสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด การนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชาไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ สามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายและดำเนินการตามคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น อาหารต้องทำตาม พ.ร.บ.อาหาร ยาต้องทำตาม พ.ร.บ.ยา และเครื่องสำอางต้องทำตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ถึงจะเป็นผลิตภัณฑ์กัญชา-กัญชงที่ถูกกฎหมาย การสูบกัญชา-กัญชง เพื่อผ่อนคลายเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิต สามารถทำได้ แต่ต้องสูบในบ้านเรือนของตัวเองอย่างมิดชิด ไม่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยรณรงค์หรือแนะนำให้มีการสูบกัญชาเพื่อผ่อนคลายใด ๆ เพราะการนำกัญชามาสูบไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่กลับเป็นโทษด้วย

สิ่งที่ทำไม่ได้ หรือไม่ควรทำ ไม่สามารถใช้สารสกัดจากพืชกัญชา-กัญชงที่มีสาร THC เกิน 0.2% เพราะยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่ ไม่สามารถสูบกัญชาแบบม้วนได้ เพราะไม่มีอากรแสตมป์ของกรมสรรพสามิตติดไว้อย่างถูกต้องเหมือนบุหรี่ ว่าง่าย ๆ คือ ไม่สามารถนำเอากัญชาไปมวนแล้วบรรจุซองแบบบุหรี่ได้ เพราะกรมสรรพสามิต ยังไม่อนุญาต จึงไม่มีการจำหน่ายกัญชาแบบมวนและทำให้ไม่สามารถสูบกัญชาแบบมวนได้ย่างถูกต้องตามไปด้วย สูบกัญชาในที่สาธารณะไม่ได้ เนื่องจากกลิ่นและควันจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ยังจะออกประกาศกำหนดให้กลิ่นและควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกันเป็นเหตุรำคาญ มาใช้ควบคุมการสูบกัญชาด้วย ดังนั้นการสูบกัญชา-กัญชง ในที่สาธารณะจะขัดต่อประกาศนี้ จึงเป็นสิ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.... ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น สามารถเข้าควบคุมเหตุรำคาญ ด้วยการอาศัยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยให้ออกคำสั่งทางการปกครองแจ้งเตือนผู้สูบกัญชา-กัญชง ที่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น แต่หากผู้ได้รับการแจ้งเตือนไม่แก้ไขหรือยังสูบอยู่ ก็ให้เจ้าหน้าที่ ส่วนท้องถิ่นส่งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยอัตราโทษกรณี ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25, 000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ทั้งนี้ร่างประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้

ข้อควรระวังในการใช้กัญชา-กัญชง สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้แสดงความห่วงใยและขอให้มีการจำกัดการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทางจิตและอาจมีผลเชิงลบต่อสุขภาพ โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ที่ควรสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนดังนี้ 1.เด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่ 2.กัญชาส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผล และการยับยั้งชั่งใจทั้งขณะเสพ และหลังเสพ และต่อลูกในครรภ์ของมารดาที่ใช้ 3.การเสพติดกัญชาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น 4.กัญชาเป็นเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคจิต และจิตเภทได้

เตรียมตั้งกรรมการควบคุมการใช้กัญชา-กัญชง รอกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการปลูก เสพ สูบ สามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทำได้เสรี 100% เพราะพิษภัยของกัญชายังคงมีอยู่ และพฤติกรรมในบางเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องควบคุม อาทิ การสูบต้องไม่ก่อให้เกิดความรำคาญกับผู้อื่น , สูบแล้วขับรถอาจจะผิดกฎหมาย เหมือนดื่มแล้วขับ , การใช้ช่อดอกมีสารเสพติดต้องระมัดระวังให้เป็นไปตามกฎหมาย , ห้ามจำหน่ายแก่เด็ก , การผลิตเพื่อจำหน่ายต้องเสียภาษี เป็นต้น โดยระหว่างรอกฎหมายใหม่ควบคุมกัญชา-กัญชง มีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการบูรณาการพืชกัญชา-กัญชง ที่มีฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ เช่น ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อกำกับดูแลในช่วงรอยตอนนี้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.