สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 25 พฤษภาคม 2565
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพิ่มความเข้มข้นมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิง ตามแนวทางปฏิบัติงานการเฝ้าระวัง 7 ข้อ โดยเฉพาะคุมเข้มการนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศ
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในกลุ่มประเทศยุโรปขณะนี้ว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กำชับกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (CITES) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด่านควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และด่านกักกันสัตว์ป่า ร่วมกันหารือแนวทางการปฏิบัติงานควบคุมและเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง 7 ข้อ ประกอบด้วย แจ้งด่านตรวจสัตว์ป่าทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจตราการนำเข้า และนำผ่านสัตว์ป่าต่างประเทศ เฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มลิง และกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่เข้ามาในราชอาณาจักร // แจ้งให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง ขอให้ตรวจโรคฝีดาษลิงเพิ่มเติมจากข้อบังคับการตรวจโรคของกรมปศุสัตว์ // ประสานด่านกักกันสัตว์ของกรมปศุสัตว์ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ขอให้ตรวจสอบใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health Certificate) ของผู้นำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงได้ตรวจโรคฝีดาษลิงหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาในไทย // ขอความร่วมมือผู้นำเข้าสัตว์ป่าต่างประเทศ หากเป็นไปได้ขอให้ชะลอการยื่นคำขอ หรือการนำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงที่มาจากประเทศมีการระบาดของโรคผีดาษลิงเข้ามาในไทย
ทั้งนี้ ยังให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าที่นำเข้า-นำผ่านสัตว์ป่าต่างประเทศเพิ่มความเข้มงวดและความปลอดภัยการปฏิบัติงานตามมาตรการสาธารณสุข เพราะมีโอกาสสัมผัสสัตว์ป่าที่เป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง // สำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุก ติดตามตรวจสอบสุขภาพของสัตว์ป่ากลุ่มลิงและกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้ามาในไทย เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ป่าดังกล่าวไม่เป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง พร้อมสอบถามสุขภาพของผู้เลี้ยงมีอาการคล้ายคลึงกับผู้ติดเชื้อจากโรคฝีดาษลิงหรือไม่ และสุดท้าย ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง E-Service ให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่างประเทศเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง หากมีข้อสงสัย หรือเหตุฉุกเฉินขอให้แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่สายด่วน 1362
สำหรับโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและติดจากคนสู่คนได้ โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ส่วนการพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกาเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศ หรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ ปัจจุบันพบผู้ป่วยมากกว่า 145 รายใน 15 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดนเนเธอร์แลน สวิตเซอร์แลน และกรีซ เบื้องต้นยังไม่พบโรคนี้ในไทย