สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 19 พฤษภาคม 2567
ที่มา: https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2785890
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิ SOS และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดตัว “โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank): การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม“
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “วิกฤติขยะอาหาร” ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบาง นอกเหนือจากการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารแล้ว การลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทางถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดวิกฤติปัญหาขยะอาหาร จากข้อมูลที่ได้มีการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยและมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารอยู่ถึง 3.8 ล้านคน
การเปิดตัวธนาคารอาหารของประเทศไทยครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกินอันจะช่วยส่งเสริมให้ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไปด้วยกัน และหวังเป็นต้นแบบของการสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย
คุณทวี อิ่มพูลทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ SOS ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิ SOS ดำเนินงานอย่างมุ่งมั่นที่จะลดปัญหาขยะอาหารและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการกอบกู้อาหารส่วนเกินจากผู้ผลิตอาหารในเครือข่ายของหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งเป็นผู้บริจาคอาหาร และนำอาหารเหล่านี้ส่งต่อให้กับเครือข่ายผู้รับบริจาคอาหาร ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ซึ่งกระบวนการกู้ภัยอาหารและการส่งต่ออาหาร ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนเอกชนผู้ผลิตอาหารในการร่วมกันดำเนินงานกู้ภัยอาหารจากบริจาคอาหาร ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรับบริจาคอาหารที่ร่วมกับผู้นำชุมชน ปัจจุบันมูลนิธิได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.3 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็น 35 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 21,166 ตัน