สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 พฤษภาคม 2567
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/environment/1124549)
“ช้อปปิ้งออนไลน์” ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกซึ้อสินค้าจากใดก็ได้ เพียงไม่นานก็มีของมาส่งให้ถึงหน้าประตูบ้าน แต่ความสะดวกสบายของผู้บริโภคอาจจะแลกมาด้วยจำนวนขยะที่มากยิ่งขึ้น และทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมอีคอมเมิร์ซต่างแข่งขันกันสร้างยอดขายด้วย การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าบ่อยขึ้น ก่อนหน้านี้อาจจะมีสินค้าลดราคาครั้งใหญ่แค่ปีละไม่กี่ครั้งตามเทศกาลสำคัญ เช่น แบล็กฟรายเดย์ วันคนโสด แต่ในปัจจุบันกลับมีการจัดโปรโมชั่นขึ้น ทุกเดือน โดยเฉพาะในแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์ของเอเชีย ที่มักจะมี “ดีลพิเศษ” คูปองส่วนลดเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อของมากขึ้น “ช้อปปิ้งออนไลน์” เพิ่มขยะพลาสติก การช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างที่คาดไม่ถึง “บรรจุภัณฑ์” ของสินค้า และกล่องพัสดุมีส่วนอย่างมากที่เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลาสติก สร้างมลพิษต่อระบบนิเวศ ข้อมูลจาก Canopy..องค์กรอนุรักษ์ป่าไม้ค้นพบว่า ในแต่ละปีมีต้นไม้ประมาณ 3,000 ล้านต้นถูกตัด เพื่อผลิตนำไปผลิตเป็นกล่องและหีบห่อสำหรับขนส่งจำนวน 241 ล้านตัน แม้ผู้ให้บริการหลายรายจะพยายามลดการใช้พลาสติกลง ทั้งพลาสติกที่ใช้ห่อหุ้มสินค้า แผ่นกันกระแทก พลาสติกและสติ๊กเกอร์ที่ใช้กับสิ้นค้าชิ้นเล็ก รวมถึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ หรือสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้น แต่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก 86 ล้านตัน ที่ใช้กันทั่วโลกในแต่ละปี มีไม่ถึง 14% ที่ถูกรีไซเคิลด้วยซ้ำ ที่เหลือถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ หรือกระจายตัวไปตามแม่น้ำ มหาสมุทร ต่าง ๆ ข้อมูลจากไปรษณีย์จีนระบุว่า ในปี 2563 มีการจัดส่งพัสดุถึง 83,000 ล้านชิ้น คิดเป็นปริมาณขยะพลาสติก 1.8 ล้านตัน และขยะกระดาษเกือบ 10 ล้านตัน ส่วนในฮ่องกงมีการขยะบรรจุภัณฑ์จากการช้อปปิ้งออนไลน์ถึง 780 ล้านชิ้น โดยสินค้า 1 ชิ้นจะใช้บรรจุภัณฑ์เฉลี่ยที่ 2.18 ชิ้น ส่วนใหญ่มีประกอบเป็นวัสดุผสมซึ่งยากต่อการรีไซเคิล นอกจากนี้ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลคำสั่งซื้อและการจัดส่งต้องใช้พลังงานประมาณ 10 เท่าของปริมาณพลังงานของบ้านทั่วไป และจำต้องใช้น้ำจำนวนมากสำหรับระบายความร้อนอีกด้วย
“การขนส่งสินค้า” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก นอกจากจะแข่งขันกันด้านราคาแล้ว ในตอนนี้เหล่าอีคอมเมิร์ซต่างแข่งขันกันด้วยความเร็ว Amazon..อีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก ใช้กลยุทธ์ด้านราคา ความสะดวกสบายและความเร็ว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยทำให้ลูกค้าเชื่อว่าการจัดส่งฟรีและรวดเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็น จึงทำให้อีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นต่างต้องใช้กลยุทธ์เดียวกัน เพื่อตามทันคู่แข่งรายใหญ่ ทำให้การสั่งของตอนเช้าได้รับของตอนเย็นจึงเป็นเรื่องที่ปรกติ การขนส่งสินค้าสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ของเหล่าบรรดาไรเดอร์ แมสเซนเจอร์ และบริการเดลิเวอร์รีต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซอสซิล ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF คาดการว่าภายในปี 2573 จำนวนรถขนส่งจะเพิ่มขึ้น 36% เป็นประมาณ 7.2 ล้านคันทั่วโลก สิ่งนี้จะไม่เพียงส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านตันเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ความแออัดบนท้องถนนเพิ่มขึ้น 21% และส่งผลให้การเดินทางใช้เวลานานมากยิ่งขึ้น