สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 16 กุมภาพันธ์ 2566
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติที่มีจุดความร้อนสูงสุดและเสี่ยงเกิดไฟป่ารุนแรง 8 แห่งในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ หลังพบปัจจัยเสี่ยงเกิดจากสภาพอากาศในประเทศและการสะสมของเชื้อเพลิงในช่วงหลายปี
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวถึงแนวทางการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหมอกควัน หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดขึ้นรุนแรงจนมีกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดจากสภาพอากาศและจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากจุดความร้อนสะสมที่เกิดจากการเผาของประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขง แม้ช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 14 กุมภาพันธ์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 โดยเฉพาะในเมียนมารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 147 แต่ภาคเหนือของไทยเป็นปัจจัยมาจากสภาพอากาศภายในประเทศ ส่วนผลกระทบจากจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านต่อไทยมีไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณฝุ่นที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องออกมาตรการภายในประเทศที่ชัดเจนมาควบคุม ด้วยการให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชประกาศปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติที่มีจุดความร้อนสูงสุดและเสี่ยงเกิดไฟป่ารุนแรง 8 แห่งในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ยกเว้นส่วนที่ให้บริการการท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ควบคุมจุดความร้อนได้คล่องตัวมากขึ้นและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย // อุทยานแห่งชาติผาแดง // อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท // อุทยานแห่งชาติออบหลวง // เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย // อุทยานแห่งชาติแม่ปิง // อุทยานแห่งชาติศรีน่าน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น มีผลตั้งแต่วันนี้ (16 ก.พ.66) เป็นต้นไป ส่วนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกรมป่าไม้อยู่ระหว่างวิเคราะห์จุดที่มีความเสี่ยงสูงเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดขอเข้าควบคุมเส้นทางในพื้นที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อควบคุมการเกิดจุดความร้อนและปฏิบัติการดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากคาดการณ์การเติบโตของระบบเศรษฐกิจและการสะสมของเชื้อเพลิงช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา พบมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากพบเกิดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง // เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง และวนอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเกิดจากจุดความร้อนดูจากตัวเลขเมื่อวันที่16 กุมภาพันธ์ สูงถึง 793 จุด หรือร้อยละ 93.82 ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ในเขตป่า โดยช่วงวันที่ 1 มกราคมถึงปัจจุบันพบสูงถึง 19,781 จุด ทั้งนี้ จากการสำรวจพบช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสถานการณ์ PM 2.5 และจุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มรุนแรงกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ สถานการณ์ของอุตุนิยมวิทยา สภาพดินฟ้าอากาศที่จะมีอากาศปิด มีอากาศเย็น และแห้งมากขึ้น ดูจากค่าเฉลี่ยปีนี้ PM 2.5 ช่วง 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 // จำนวนวันที่เกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 72 และจำนวน Hotspot ใน 17 จังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 118 ภาพรวมคาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์มีแนวโน้มรุนแรงไปจนถึงสิ้นเดือน สำหรับจุดความร้อนสะสมระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 14 กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 118 ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 70 เกิดในพื้นที่ป่า แบ่งเป็น ป่าอนุรักษ์ร้อยล 50 และป่าสงวนแห่งชาติร้อยละ 50