หัวข้อ |
รายละเอียด |
ชื่อโครงการ MU-SDGs Case Study |
การจัดการความรู้เพื่อการบริหารจัดการพันธุ์ข้าว และกระบวนการจัดการเครือข่ายของ Young Smart Farmer เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (Knowledge management for rice varieties and network management of Young Smart Farmer to cope with climate variability) |
แหล่งทุน |
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) |
ส่วนงานหลัก |
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ |
ผู้ดำเนินการหลัก |
รศ.ดร.นพพล อรุณรัตน์ |
ผู้ดำเนินการร่วม
|
หน่วยงานเครือข่ายให้การสนับสนุน และส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล และกลุ่มคัดเลือกและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิจิตร จังหวัดยโสธร และจังหวัดพัทลุง |
คำอธิบาย
|
ถอดกระบวนการเรียนรู้ การสั่งสม การถ่ายทอดองค์ความรู้ของเกษตรกรด้านการบริหารจัดการพันธุ์ข้าวในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงวิเคราะห์กระบวนการสร้างและการจัดการเครือข่ายของ Young Smart Farmer เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน |
เนื้อหา MU-SDGs Case Study |
ข้าวเป็นสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นอาหารหลักของคนไทย การปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตดีนั้นมีปัจจัยหลายประการ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน ปริมาณน้ำ เทคโนโลยี แต่ที่สำคัญที่สุด คือ พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และได้ผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และมักใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้เองต่อเนื่องกันหลายปี ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบกับ ยังขาดความรู้เกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเอกชนก็ยังไม่สามารถรับรองคุณภาพได้ การลงทุนสร้างโรงงานปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์หรือศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มเติม รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมาก งานวิจัยนี้ จึงมุ่งถอดกระบวนการเรียนรู้ การสั่งสม การถ่ายทอดองค์ความรู้ของเกษตรกรด้านการบริหารจัดการพันธุ์ข้าวในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงวิเคราะห์กระบวนการสร้างและการจัดการเครือข่ายของ Young Smart Farmer และจัดทำคู่มือและสื่อ Infographic สรุปองค์ความรู้การบริหารจัดการพันธุ์ข้าวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน คณะผู้วิจัยดำเนินงานด้วยการวิจัยเอกสาร ศึกษาบริบทชุมชน สัมภาษณ์เชิงลึก สนทนากลุ่มและถอดบทเรียนจากกลุ่มเกษตรกร 4 ภาค 4 จังหวัด 4 อำเภอ 4 ตำบล คือ ภาคเหนือ: ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่าง: ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ตำบลกุดชุม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร และภาคใต้: ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ผลการดำเนินงานที่สำคัญ พบว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ขยาย เนื่องจากการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ ประกอบกับราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวตามท้องตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เกิดจากการตระหนักว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเริ่มสูญหายไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์และขยายพันธุ์สืบต่อไป เกษตรกรจะปลูกเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย ในช่วงฤดูฝน เกษตรกรจะมีการร่วมกันวางแผน หารือ และแลกเปลี่ยนปัญหาทั้งก่อนเพาะปลูกและระหว่างเพาะปลูก รวมถึงร่วมกันตรวจแปลงอย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งทุกๆ ขั้นตอนของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จุดเริ่มต้นของการสร้างกลุ่มและเครือข่าย Young Smart Farmer เกิดจากการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว และร่วมกันอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรจึงก่อตั้งกลุ่มโดยมีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และเกิดเครือข่ายของเกษตรกรที่มีเป้าหมายเหมือนกัน สำหรับการทำกิจกรรมกลุ่มหรือปรับตัวดำรงอยู่ คือ กลุ่มดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในกลุ่ม เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ต้องการเมล็ดพันธุ์ ซึ่งในทุกๆ พื้นที่ จะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านความรู้ เทคนิค ควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว ปัจจุบันการสื่อสารเข้าถึงมากยิ่งขึ้นสมาชิกสามารถติดต่อกันผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ โดยส่วนใหญ่จะติดต่อกันผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ (LINE) หรือ เฟสบุ๊ค (Facebook) เพื่อร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเครือข่าย รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนภายนอกได้รู้กลุ่ม และเป็นช่องทางในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และผลผลิตทางการเกษตร การจัดทำคู่มือสรุปองค์ความรู้ ภายใต้ชื่อ คู่มือนาแปลงใหญ่ฉบับชาวบ้าน มีขั้นตอนดังนี้ 1) ออกแบบเนื้อหา คำนึงถึงผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากคู่มือเป็นสำคัญ 2) ทดสอบความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมาย 3) ออกแบบรูปเล่มให้น่าหยิบ และน่าอ่าน 4) ผลิตและการเผยแพร่คู่มือสู่เกษตรกรในพื้นที่ศึกษาและหน่วยงานภาครัฐด้านการเกษตรในท้องถิ่นและส่วนกลาง การสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ เช่น รถเกี่ยวข้าว เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ และเครื่องอบข้าวเปลือกเพื่อลดความชื้น การสนับสนุนองค์ความรู้หรือเทคโนโลยี การจัดอบรมเสริมความรู้เกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ขยาย และการพัฒนาพันธุ์หลักให้กับเกษตรกร การพัฒนาการข้อมูลพยากรณ์อากาศในระดับท้องถิ่น และคืนข้อมูลการพยากรณ์อากาศให้กับเกษตรกรผ่านหลายช่องทาง เช่น สื่อสังคมออนไลน์ (Line กลุ่มเกษตรกร, Facebook กลุ่มเกษตรกร) การเพิ่มทักษะในด้านการผลิต และการตลาด ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการสนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจและไม่ส่งผลกระทบให้เกษตรกรรุ่นใหม่หันไปประกอบอาชีพเพื่อหารายได้นอกภาคการเกษตร |
SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม |
12 |
SDGs อื่น ๆ ที่สอดคล้อง |
13 15 |
Key Message
|
การจัดการความรู้เพื่อการบริหารจัดการพันธุ์ข้าว และกระบวนการจัดการเครือข่ายของ Young Smart Farmer เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม |
Links ข้อมูลเพิ่มเติม |
|
สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย |
ยุทธศาสตร์ 1 Global Research and Innovation |
Partners/Stakeholders |
หน่วยงานเครือข่ายให้การสนับสนุน และส่งเสริมการเกษตร อปท. และเกษตรกรในพื้นที่ |
ตัวชี้วัด THE Impact Ranking |
13.3.1, 13.3.3, 13.3.4, 15.2.1, 15.2.5 |
การจัดการความรู้เพื่อการบริหารจัดการพันธุ์ข้าว และกระบวนการจัดการเครือข่ายของ Young Smart Farmer เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
- Super User
- งานวิจัย
- ฮิต: 6530