• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Awards and Honors

การปรากฏและการกระจายของละองละมั่ง ภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี

การปรากฏและการกระจายของละองละมั่ง ภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี

Occupancy and Distribution of Eld’s Deer (Rucervus eldii) after Reintroduction in Salakphra Wildlife Sanctuary, Kanchanaburi Province

Image
Image
แหล่งทุน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ส่วนงานหลัก
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนงานร่วม
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ผู้ดำเนินการหลัก
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์
ผู้ดำเนินการรอง
นายเสรี นาคบุญ
นางสาวน้ำผึ้ง ยังโป้ย

คำอธิบาย

การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ติดตามรูปแบบการปรากฏและการกระจายของประชากรละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อเป็นการติดตามความสำเร็จในการปล่อยละองละมั่งและใช้เป็นแนวทางในการจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ประชากรละองละมั่ง

เนื้อหา MU-SDGs Case Study

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ

ประชากรละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จค่อนข้างดี ปัจจุบันคาดว่ามีละองละมั่งเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้มากกว่า 100 ตัว แต่ยังไม่มีรายงานเป็นทางการ ทำให้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรากฏ การกระจาย และการเจริญเติบโตของละองละมั่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ที่ประสบความสำเร็จดีกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นโมเดลให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการดำเนินการปล่อยละองละมั่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับละองละมั่งได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้การปล่อยละองละมั่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนเช่นเดียวกับที่ปรากฏในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการปรากฏและการกระจายของละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อติดตามความเหมาะสมของการรองรับการใช้ประโยชน์ของประชากรละลองละมั่งภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และเพื่อเสนอแนะแนวทางในการจัดการประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมภายหลังการปล่อยละองละมั่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ต่อไป

การดำเนินการ

การศึกษานิเวศวิทยาของละองละมั่งดำเนินการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นร่วมกับการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า เป็นรัศมี 8 ทิศ และตั้งกล้องห่างกัน 1 กิโลเมตร ในแต่ละทิศเพื่อให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ศึกษาโดยใช้โปรแกรม ArcGIS ทั้งหมด 25 จุด อย่างเป็นระบบ (Systematic sampling) เป็นเวลา 1 ปี พร้อมทั้งศึกษาปัจจัยแวดล้อมในพื้นที่ศึกษา และทำการติดตั้งกล้องเพิ่มเติมบริเวณที่มีการจัดทำแหล่งน้ำและแหล่งโป่งให้กับสัตว์ป่า เพื่อสังเกตพฤติกรรมของละองละมั่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม ทำการเปลี่ยนแผ่นบันทึกข้อมูลและแบตเตอรีเพื่อเก็บข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ เดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 เดือน โดยให้กล้องแต่ละตัวตั้งอยู่ตำแหน่งเดิมและไม่มีการเคลื่อนย้ายกล้อง เพื่อทำการจำแนกภาพที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ ประเมินความมากมายและการกระจายของละองละมั่งในพื้นที่ศึกษา โดยใช้ค่าดัชนีความมากมายสัมพัทธ์ (relative abundance index; RAI) และค่าความถี่สัมพัทธ์ (relative frequency; RF) วิเคราะห์การครอบครองพื้นที่ (Occupancy) ของละองละมั่ง ศึกษาโครงสร้างประชากรของละองละมั่งโดยทำการจำแนกช่วงอายุและเพศ แบ่งละองละมั่งออกเป็น 3 ช่วงอายุ คือ เต็มวัย (adult) ก่อนเต็มวัย (yearling) และลูกอ่อน (fawn) การพิจารณาคะแนนสภาพร่างกาย (Body Condition Scoring; BCS) ของละองละมั่ง วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกถิ่นที่อาศัย และการปรากฏของละองละมั่งโดยใช้วิธีการทางสถิติ Logistic Regression Analysis และ Maximum Entropy (MaxEnt) และกิจกรรมในรอบวัน (Diely Activity Pattern) ของละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ที่เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกับละองละมั่งในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการละองละมั่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี อย่างยั่งยืนต่อไป

ผลการดำเนินงาน

ละองละมั่งกระจายหากินในพื้นที่เป็นจำนวน 8 จุด จากจุดติดตั้งทั้งหมด 33 จุด คิดเป็นความถี่ทั้งหมด (RF) ร้อยละ 22.24 ส่วนช่วงฤดูฝน (เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม) พบ 3 จุด คิดเป็นความถี่ทั้งหมด (RF) ร้อยละ 12 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีฝนตกหนัก ทำให้การกระจายของละองละมั่งลดลง ตามลำดับ ละองละมั่งมีการครอบครองพื้นที่ตลอดทั้งปีมีค่ามากที่สุด 300.51 ตร.กม. มาก 701.53 ตร.กม. ปานกลาง 583.63 ตร.กม. และน้อย 339.27 ตร.กม. ตามลำดับ การศึกษาโครงสร้างประชากรของละองละมั่งสามารถจำแนกละองละมั่งโดยไม่นับซ้ำตัวเดิมได้อย่างน้อย 76 ตัว จำแนกเป็นเพศผู้โตเต็มวัย 24 ตัว เพศเมียโตเต็มวัย 26 ตัว ก่อนเต็มวัย 12 ตัว และลูกอ่อน 14 ตัว คิดเป็นอัตราส่วนประชากรเท่ากับ 1:1.33:0.5:0.58 อัตราส่วนระหว่างเพศผู้ต่อเพศเมียเท่ากับ 1:1.33 อัตราส่วนเพศเมียต่อลูกเท่ากับ 1:0.54 และอัตราส่วนการเพิ่มพูน (เพศเมียเต็มวัยต่อวัยรุ่นรวมกับลูกอ่อน) เท่ากับ 1:1 โดยละองละมั่งเพศผู้โตเต็มวัยมีค่าคะแนนร่างกายเท่ากับ 3.5 (ค่าคะแนนเต็ม = 5, n = 18 ภาพ) เพศเมียโตเต็มวัยมีค่าคะแนนร่างกายเท่ากับ 4.84 (ค่าคะแนนเต็ม = 5, n = 19 ภาพ) ก่อนเต็มวัยมีค่าคะแนนร่างกายเท่ากับ 4 (ค่าคะแนนเต็ม = 5, n = 4 ภาพ) และลูกอ่อนมีค่าคะแนนร่างกายเท่ากับ 4.73 (ค่าคะแนนเต็ม = 5, n = 11 ภาพ) การวิเคราะห์พื้นที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของละองละมั่งด้วยวิธี Logistic Regression Analysis ช่วงฤดูแล้งปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระจายของละองละมั่ง ได้แก่ การปรากฏของเสือโคร่ง หมาใน ระยะห่างจากแหล่งโป่ง ระยะห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่า Isothermality (BIO2/BIO7) (×100); Max Temperature of Warmest Month; Min Temperature of Coldest Month และ Precipitation of Driest Quarter ส่วนช่วงฤดูฝน พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระจายของละองละมั่ง ได้แก่ สระขุด ระยะห่างจากแหล่งโป่ง Annual Precipitation และ Precipitation of Warmest Quarter พบว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดเป็นพื้นที่ตอนกลางที่มีความสูงต่ำ อยู่ใกล้กับแหล่งโป่ง หลีกหนีการรบกวนจากสัตว์ผู้ล่าที่สำคัญ คือ หมาใน และเสือดาว โดยเข้ามาอยู่บริเวณพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่ามากกว่า ทั้งนี้การกระจายของละองละมั่งยังสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิร้อนขึ้น อาหารและและแหล่งน้ำลดน้อยลง ส่งผลให้ละองละมั่งต้องใช้พื้นที่กว้างขึ้นกว่าช่วงฤดูฝน รูปแบบการทำกิจกรรมในรอบวันของละองละมั่งในช่วงฤดูฝนละองละมั่งมีรูปแบบการทำกิจกรรมในรอบวันค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน โดยช่วงเวลาที่มีรูปแบบการทำกิจกรรมมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 7.00 น. เช่นเดียวกับช่วงฤดูฝนละองละมั่งมีรูปแบบการทำกิจกรรมในรอบวันค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน โดยช่วงเวลาที่มีรูปแบบการทำกิจกรรมมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 12.00 น. และเมื่อนำรูปแบบกิจกรรมในช่วงฤดูแล้งและช่วงฤดูฝนมาซ้อนทับกัน พบว่ามีการซ้อนทับกันร้อยละ 93 ละองละมั่งเลือกกินพืชกลุ่มหญ้าเป็นอาหารหลัก พบตัวอย่างพืชกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่น้อยมาก จึงสรุปได้ว่าละองละมั่งเป็นสัตว์แทะเล็มหญ้ามากกว่าแทะเล็มกิ่ง

สาเหตุที่พบละองละมั่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมากขึ้นเมื่อเทียบกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน คือ การปล่อยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีการเตรียมการที่ดีกว่าการเตรียมการปล่อยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนที่มีการเตรียมการที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากมีบทเรียนจากพื้นที่อื่น ๆ มาใช้ในการวางแผนการจัดการก่อนและระหว่างดำเนินการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ขณะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแม้ว่าสภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่ขณะเดียวกันก็มีการแก่งแย่งจากสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่เดิมในพื้นที่ และการมีสัตว์ผู้ล่าจำนวนมากเมื่อเทียบกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ส่งผลให้การปล่อยในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งปัจจุบันเมื่อทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีการฟื้นฟูประชากรเหยื่อที่สำคัญ เช่น วัวแดง ละองละมั่ง และเนื้อทราย ส่งผลให้มีการเข้ามาใช้พื้นที่ของสัตว์ผู้ล่ามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากแบบจำลองที่ทำการวิเคราะห์ในการศึกษาครั้งนี้ว่าสามารถพบสัตว์ผู้ล่าได้มากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ส่งผลต่อการกระจายของละองละมั่งภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในปัจจุบัน ส่วนการปล่อยละองละมั่งภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวที่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีการศึกษาหรือเตรียมการที่เหมาะสม โดยเฉพาะละองละมั่งเลือกใช้พื้นที่ที่มีความสูงไม่มาก และมีความลาดชันต่ำ เมื่อนำไปปล่อยภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวที่มีความสูงมาก อากาศเย็น การจะหลบสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมลงมาทางตอนล่างของพื้นที่ก็ประสบปัญหาสภาพพื้นที่มีความลาดชันสูง ส่งผลให้การปล่อยละองละมั่งคืนสู่ธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวไม่ประสบความสำเร็จ

การนำไปใช้ประโยชน์

ภาครัฐ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

เป็นโครงการแรกที่ทำการประเมินปัจจัยที่ทำให้การปล่อยละองละมั่งในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีข้อค้นพบใหม่ว่าการปล่อยละองละมั่งหรือสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อชนิดอื่น ๆ สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้ามาใช้ประโยชน์ของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ เช่น เสือโคร่ง ได้เป็นอย่างดี

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

ระดับชุมชน สร้างความตระหนักให้สังคมได้เห็นคุณค่าต่อการอนุรักษ์ละองละมั่งและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ในพื้นที่เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ระดับประเทศ ได้องค์ความรู้ใหม่ในการปรากฏและการกระจายของละองละมั่งภายหลังจากการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

ระดับโลก จากความสำเร็จในการปล่อยละองละมั่งคืนสู่ธรรมชาติ ช่วยให้ระบบนิเวศมีความซับซ้อนมากยิ่ง นอกจากนี้ยังสามารถรองรับประชากรเสือโคร่งที่กระจายมาจากพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการจัดการประชากรเสือโคร่งของประเทศและของโลก และยังทำให้ระบบนิเวศบกมีความยั่งยืนมากขึ้นตาม SDGs

Key Message

การปล่อยสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งคืนสู่ธรรมชาติ ช่วยฟื้นฟูสัตว์ผู้ล่าและฟื้นฟูระบบนิเวศบนบกที่ถูกทำลายและเสื่อมสภาพให้กลับมาทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้อีกครั้ง

Links ข้อมูลเพิ่มเติม

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ 1 Global Research and Innovation

Partners/Stakeholders

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมป่าไม้

ภาพประกอบ
Image
Image
Image
Image

© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.