• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

คลิปวิดิโอ

การจัดทำบัญชีการระบายมลพิษแอมโมเนียซึ่งเป็นสารตั้งต้นทุติยภูมิ ก่อให้เกิด PM 2.5 จากกิจกรรมของมนุษย์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

การจัดทำบัญชีการระบายมลพิษแอมโมเนียซึ่งเป็นสารตั้งต้นทุติยภูมิก่อให้เกิด PM 2.5 จากกิจกรรมของมนุษย์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

Emission Inventory of Ammonia (NH3) Precursor Contributions to PM 2.5 from Anthropogenic Activities in Bangkok Metropolitan Region (BMR), Thailand

Image
แหล่งทุน
ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ (New Discovery) และบุกเบิกศาสตร์แขนงใหม่ (Frontier Research) มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนงานหลัก
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
ผู้ดำเนินการหลัก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรทยา เริ่มมนตรี
ผู้ดำเนินการรอง

คำอธิบาย

ผู้วิจัยได้จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะก๊าซแอมโมเนียซึ่งเป็นสารตั้งต้นทุติยภูมิอันก่อให้เกิด PM2.5 จากกิจกรรมของมนุษย์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ ทุติยภูมิและข้อมูลดาวเทียมทั้งในภาคการเกษตร ภาคการขนส่งทางถนน รวมถึงประเมินการเผาชีวมวลการเกษตรในที่โล่ง โดยใช้ฐานปี ค.ศ. 2020 ภายใต้วิธีการคำนวณประเมินปริมาณการระบายมลพิษทางอากาศตามคู่มือ EMEP/EEA Air Pollutant Emission Inventory Guidebook 2019

ผลการศึกษา พบว่า กิจกรรมของมนุษย์ (Anthropogenic sources) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ประกอบด้วย กลุ่มก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 60 ล้านตัน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) 8 พันตัน และ ก๊าซมีเทน (CH4) 185 พันตัน กลุ่มก๊าซที่เป็นสารตั้งต้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบทุติยภูมิ (PM2.5) ได้แก่ ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) 20 พันตัน ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) 269 พันตัน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) 48 พันตัน และ ก๊าซคาร์บอนระเหยที่ไม่ใช่มีเทน (NMVOCs) 110 พันตัน และกลุ่มฝุ่นละอองขนาดเล็กที่จะถูกปล่อยออกมาทางอากาศโดยตรง ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 23 พันตัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) 30 พันตัน ผงฝุ่นเขม่าดำ (BC) 10 พันตัน และ อินทรีย์คาร์บอน (OC) 6 พันตัน นอกจากนี้ ยังมีมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 365 พันตัน

นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดให้ทำการศึกษาการลดการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ และมลพิษสารตั้งต้น (NH3) ภายใต้ภาพฉาย (Scenario) จำนวน 1 Scenario ซึ่งมุ่งเน้นการลดการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ จากแหล่งกำเนิดหลัก 2 แหล่ง ได้แก่ การเผาเศษวัสดุการเกษตรในที่โล่ง และการขนส่งทางถนน และการกำหนดมาตรการลดการระบายมลพิษสารตั้งต้น NH3 จากภาคการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งแบ่งเป็นการระบายก๊าซแอมโมเนียจากกิจกรรมปศุสัตว์ และการระบายก๊าซแอมโมเนียจากการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน ผลการประเมินแสดงให้เห็นว่า การดำเนินมาตรการภายใต้ภาพฉาย (Scenario) 1 สามารถลดการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ ในช่วงเดือนมกราคม ได้ประมาณ 0.80 พันตัน (ลดลงร้อยละ 41) มลพิษสารตั้งต้น NH3 ได้เท่ากับ 1.16 พันตัน (ลดลง 50%)

เนื้อหา MU-SDGs Case Study

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ
   งานวิจัยกำหนดสมมุติฐานงานวิจัยไว้ดังนี้ จากแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) นอกจากแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปฐมภูมิแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งมาจากมลพิษสารตั้งต้น (Precursor emissions) อันเกิดจากการรวมตัวกันของสารตั้งต้นโดยเฉพาะสารแอมโมเนีย ซึ่งสารดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ได้แก่ การทำปศุสัตว์ในภาคการเกษตรโดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยยูเรีย อันก่อให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย และผ่านกลไกการทำปฏิกิริยาเคมีและกลไกด้านอุตุนิยมวิทยาในบรรยากาศที่ก่อให้เกิด PM2.5 ทุติยภูมิขึ้นได้ รวมถึงเกิดจากการเผาชีวมวลทางการเกษตรในที่โล่ง และการติดตั้งเครื่อง Selective Catalytic Reduction (SCR) ในเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (NOX) ในภาคขนส่ง โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดแอมโมเนียผ่านการจัดทำฐานข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่และเวลาจากกิจกรรมการเผาชีวมวลในที่โล่งและการเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเพื่อสรรหาแนวทางการควบคุมแหล่งกำเนิดแอมโมเนียที่สามารถทำให้การเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ทุติยภูมิในบรรยากาศลดลง และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยวิธีการลดการเกิด PM2.5 ทุติยภูมิจากการรวมตัวของสารตั้งต้นประเภทแอมโมเนีย

   โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดแอมโมเนียผ่านการจัดทำฐานข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่และเวลาจากกิจกรรมการเผาชีวมวลในที่โล่งและการเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเพื่อสรรหาแนวทางการควบคุมแหล่งกำเนิดแอมโมเนียที่สามารถทำให้การเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ทุติยภูมิในบรรยากาศลดลง และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยวิธีการลดการเกิด PM2.5 ทุติยภูมิจากการรวมตัวของสารตั้งต้นประเภทแอมโมเนีย

การดำเนินการ
  1. การรวบรวมข้อมูลแหล่งกำเนิดก๊าซแอมโมเนีย
       การรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจะรวบรวมข้อมูลกิจกรรมของแหล่งกำเนิดก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับภาคการใช้พลังงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจของประเทศไทย อาทิเช่น สาขาขนส่ง สาขาอุตสาหกรรมการผลิต สาขาธุรกิจการค้า สาขาเกษตรกรรม สาขาบ้านอยู่อาศัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อมูลการจัดหาพลังงานขั้นต้นของประเทศไทย เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม
       สำหรับข้อมูลปฐมภูมิ ผู้วิจัยจะเก็บข้อมูลแหล่งกำเนิดหลักที่มีนัยสำคัญต่อการปล่อยก๊าซแอมโมเนีย ได้แก่ การปล่อยก๊าซแอมโมเนีย (NH3) จากภาคการเกษตร ซึ่งมาจากกิจกรรมการใช้ปุ๋ยยูเรีย (Urea) และปุ๋ยเคมีไนโตรเจนอื่นๆ ในการเพาะปลูกพืช ได้แก่ ข้าว พืชไร่ (ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ) พืชสวน และไม้ผล และกิจกรรมการทำปศุสัตว์/เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกร โคนม โคเนื้อ และสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ดเนื้อ และเป็ดไข่ ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล
       ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซแอมโมเนียจากแหล่งกำเนิด โดยใช้ The Greenhouse Gas - Air Pollution Interactions and Synergies (GAINS) Model ซึ่งเป็นแบบจำลองที่พัฒนาโดย International Institute for Applied Systems Analysis (IIASA) เพื่อใช้ในการศึกษามาตรการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยศึกษาและประเมินความสำเร็จของแนวทางและมาตรการเชิงนโยบายในการลดหรือควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด
  2. การประเมินการปล่อยก๊าซแอมโมเนียจากการเผาชีวมวลในที่โล่ง
       ในการประมาณค่าการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการเผาชีวมวลในที่โล่ง จะใช้สมการการประเมินตามวิธีการของ 2006 IPCC guideline ตัวแปรที่สำคัญในการประเมินการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการเผาชีวมวลในที่โล่ง ประกอบไปด้วย ขนาดพื้นที่เผา ความหนาแน่นของชีวมวล สัมประสิทธิ์การเผาไหม้ และสัมประสิทธิ์การปล่อยมลพิษทางอากาศ สำหรับข้อมูลขนาดพื้นที่เผา ผู้วิจัยจะใช้ข้อมูลการสำรวจระยะไกล ซึ่งมีความเหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ศึกษา และช่วงเวลาในการประเมิน กล่าวคือ เหมาะสมสำหรับการสำรวจหาพื้นที่เผาในพื้นที่ศึกษาที่มีขนาดใหญ่ (Regional scale) และต้องการความละเอียดของข้อมูลพื้นที่เผาในลักษณะรายวันต่อเนื่อง (Hight temporal)
  3. การประเมินพื้นที่เผาชีวมวลในที่โล่ง
       ในการประเมินหาปริมาณพื้นที่เผาชีวมวลในที่โล่ง ผู้วิจัยใช้ข้อมูลดาวเทียม MODIS Burnt Area Product Collection 6 (MCD64A1) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดที่ทำการปรับปรุงวิธีการประเมินพื้นที่เผาให้มีความคลาดเคลื่อนลดลง โดยเฉพาะการประเมินพื้นที่เผาที่มีขนาดเล็ก ข้อมูลพื้นที่เผาที่ได้จาก MCD64A1 จะมีขนาดของ pixel-resolution เท่ากับ 500 เมตร มีการลักษณะการรายงานข้อมูลพื้นที่เผาแบบรายวัน ตลอดต่อเนื่องทั้งปี
  4. การจัดทำฐานข้อมูลการกระจายตัวเชิงพื้นที่และเวลาของการระบายก๊าซแอมโมเนีย
       ผู้วิจัยได้พัฒนาฐานข้อมูลการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของการระบายก๊าซแอมโมเนียจากแหล่งกำเนิดย่อยทุกแหล่งในโปรแกรม ArcGIS Version 10.8.1 เพื่อทำการซ้อนทับข้อมูลดังกล่าวให้อยู่ในรูปของ Grid สิ่งเหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งมีขนาดของ Grid เท่ากับ 12 km x 12 km สำหรับ Domain 1 ที่ครอบคลุมทั้งประเทศไทย และขนาด Grid 4 km x 4 km สำหรับ Domain 2 ที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ฐานข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนการระบายก๊าซแอมโมเนียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ Grid ดังกล่าวต่อปริมาณการระบายมลพิษทางอากาศทั้งหมด 
       โดยแหล่งกำเนิดต่าง ๆ จะมีลักษณะของการระบายมลพิษที่แตกต่างกัน ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ การระบายแบบ Point sources อาทิเช่น การระบายมลพิษจากโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น การระบายแบบ Line sources อาทิเช่น การระบายมลพิษจากการขนส่งทางถนน และการระบายแบบ Area sources อาทิเช่น การระบายมลพิษจากการเพาะปลูกข้าว การใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก เป็นต้น

ผลการดำเนินงาน
   จากผลการประมาณค่าปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนที่สูงมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ โดยมาจากการใช้เพื่อเพาะปลูกข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในเดือนมกราคม มีปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนสูงถึง 2,948 ตันไนโตรเจน รองมาคือ เดือนกุมภาพันธ์ มีปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนสูงถึง 2,720 ตันไนโตรเจน

   เมื่อนำค่าปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในการเพาะปลูกพืชมาคำนวณร่วมกับค่าสัมประสิทธิ์การระบายก๊าซแอมโมเนีย ทำให้ทราบถึงผลปริมาณการปล่อยก๊าซแอมโมเนียจากการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยพบว่า ในปีพ.ศ. 2563 การใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซแอมโมเนียทั้งหมด 4.30 กิโลตัน โดยจังหวัดนครปฐมและปทุมธานี มีปริมาณการปล่อยก๊าซแอมโมเนียมากที่สุด โดยปล่อยก๊าซแอมโมเนียเท่ากับ 1.66 กิโลตัน และ 1.59 กิโลตัน ตามลำดับ สำหรับในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปริมาณการปล่อยก๊าซแอมโมเนียในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ โดยปล่อยก๊าซแอมโมเนียเท่ากับ 0.57 กิโลตัน และ 0.52 กิโลตัน ตามลำดับ

   สำหรับสัดส่วนการกระจายตัวเชิงเวลาในการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนในแต่ละประเภทพืช ในปีพ.ศ. 2563 พบว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นช่วงที่เกษตรกรใส่ปุ๋ยยูเรียและเคมีไนโตรเจนอื่นๆ ให้กับการเพาะปลูกข้าวนาปรังและอ้อยโรงงานเป็นหลัก จากข้อมูลดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยจะนำไปใช้ในการกำหนดมาตรการในการลดการใช้ปุ๋ยยุเรียและเคมีไนโตรเจนอื่นๆ ที่เหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจะส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งจัดเป็นมลพิษสารตั้งต้นในการเกิด PM2.5 ปฐมภูมิ

  จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซแอมโมเนียจากการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนจะมีปริมาณที่สูงกว่าในช่วงเดือนที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม การใช้ปุ๋ยเคมีในช่วงเวลาดังกล่าวมาจากการเพาะปลูกข้าวนาปรัง และอ้อยโรงงาน ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาครัฐควรมีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน ให้มีความเหมาะสมต่อความต้องการของพืช ซึ่งในปัจจุบัน ภาครัฐได้มีการดำเนินโครงการสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวใช้ปุ๋ยเคมีสั่งตัด ที่มีความเหมาะสมกับความต้องการของพืชในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งจากโครงการดังกล่าวจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อปุ๋ยเคมีหรือลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ถึงร้อยละ 30 รวมถึงจากข้อมูลแบบสอบถาม เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการปุ๋ยสั่งตัดของภาครัฐประมาณร้อยละ 50 ดังนั้น ในการกำหนดภาพฉายในอนาคตในการลดการระบายก๊าซแอมโมเนียจากการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน

   ผู้วิจัยจึงได้กำหนดให้เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้าร่วมโครงการปุ๋ยสั่งตัดของภาครัฐร้อยละ 50 จะทำให้เกษตรกรลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้เท่ากับร้อยละ 30 โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งมีช่วงเวลาในการใส่ปุ๋ยให้พืชปริมาณมากในช่วงเดือนมกราคม ผู้วิจัยได้จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ (Anthropogenic sources) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า มีการปล่อยมลพิษทางอากาศ ประกอบด้วย กลุ่มก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 60 ล้านตัน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) 8 พันตัน และ ก๊าซมีเทน (CH4) 185 พันตัน กลุ่มก๊าซที่เป็นสารตั้งต้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบทุติยภูมิ (PM2.5) ได้แก่ ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) 20 พันตัน ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) 269 พันตัน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) 48 พันตัน และ ก๊าซคาร์บอนระเหยที่ไม่ใช่มีเทน (NMVOCs) 110 พันตัน และกลุ่มฝุ่นละอองขนาดเล็กที่จะถูกปล่อยออกมาทางอากาศโดยตรง ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 23 พันตัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) 30 พันตัน ผงฝุ่นเขม่าดำ (BC) 10 พันตัน และอินทรีย์คาร์บอน (OC) 6 พันตัน นอกจากนี้ ยังมีมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 365 พันตัน

   ผลการประเมินการกระจายตัวเชิงเวลาของปริมาณการปล่อยฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ รายเดือน ตั้งแต่ เดือนมกราคม - ธันวาคม ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ในแต่ละเดือนมีการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยมีค่าอยู่ในช่วง 1.8 - 2.0 พันตันต่อเดือน โดยเดือนที่มีการระบายฝุ่น PM2.5 สูงที่สุด คือเดือน มี.ค. ในขณะที่เดือนที่มีการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ ต่ำที่สุด คือเดือน มิ.ย. ซึ่งในทุกเดือนนั้น กิจกรรมที่มีการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ มากที่สุด คือกิจกรรมขนส่งทางถนน โดยเฉพาะจากรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถปิคอัพ) และรถบรรทุก

   จากข้อมูลการกระจายตัวเชิงพื้นที่และเวลาของการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ในเดือน ม.ค. มีปริมาณการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิที่สูง และมีการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อการหาแนวทางในการลดการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิในพื้นที่และช่วงเวลาดังกล่าว ผู้วิจัยได้ทำการประเมินลำดับแหล่งกำเนิด PM2.5 ปฐมภูมิ ในช่วงเดือนมกราคมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผลการจัดลำดับแหล่งการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคกลางในเดือน ม.ค. จะเห็นได้ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถบรรทุก มีปริมาณการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ มากที่สุด โดยรวมกันคิดเป็นร้อยละ 42 จากการระบายทั้งหมด รองลงมาเป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม ทั้งแบบประเภทหม้อต้มไอน้ำ และเตาเผาอุณหภูมิสูง โดยรวมกันคิดเป็นร้อยละ 13 ในการกำหนดมาตรการลดการระบายฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ คณะผู้วิจัยมุ่งเน้นไปที่การลดการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจากข้อมูลการ Lock down ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา COVID19 ในปี พ.ศ. 2564 พบว่า การลดการเดินทางของประชาชน โดยการ Work from home ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถช่วยลดการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ   ร้อยละ 40 – 50 จากการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงเวลาปกติ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 คณะผู้วิจัยเสนอว่าในช่วงเดือน ม.ค. ควรมีการกำหนดมาตรการลดการเดินทางในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ตารางที่ 1 สรุปปริมาณการลดการระบายมลพิษทางอากาศในเดือนมกราคม ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้การดำเนินมาตรการตามภาพฉายที่ 1

มาตรการ

ปริมาณการลดการระบายมลพิษทางอากาศ

ในช่วงเดือน ม.ค. (พันตัน)

PM2.5

NH3

1.     มาตรการห้ามเผาเศษวัสดุการเกษตรในที่โล่ง

0.00

(0.0%)

0.00

(0.0%)

2.     มาตรการลดการเดินทางทางถนน

0.59

(30%)

0.06

(3%)

3.     มาตรการลดการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

0.21

(11%)

0.01

(0.4%)

4.     มาตรการลดการระบายก๊าซแอมโมเนียจากภาคปศุสัตว์

-

-

0.27

(12%)

5.     มาตรการลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน

-

-

0.82

(35%)

ผลรวมจากทุกมาตรการ

0.80

(41%)

1.16

(50%)



หมายเหตุ: ตัวเลขในวงเล็บแสดงเปอร์เซ็นต์การลดการระบายมลพิษทางอากาศ เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการระบายมลพิษทางอากาศรวมทั้งหมดในแต่ละพื้นที่

การนำไปใช้ประโยชน์

  ได้ระบบบัญชีการปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นปัจจุบัน (ประกอบด้วยฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ, Precursors ของ PM2.5 ทุติยภูมิ, ก๊าซเรือนกระจก, PM10 ปฐมภูมิ ฯลฯ) ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดการปล่อยมลพิษทางอากาศของกรณีพื้นฐาน/ปกติ (Baseline/Business As Usual, BAU) และการสร้างฉากทัศน์ (Scenario) ภายใต้กรณีหรือสถานการณ์ที่มีมาตรการลดการปล่อยสาร Precursors ของ PM2.5 ทุติยภูมิ

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

ผลงานวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM2.5 ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากรู้ถึงแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษปฐมภูมิ ซึ่งรวมถึงสารมลพิษ Precursors ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

Key Message

การจัดทำฐานข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษแอมโมเนียซึ่งเป็นสารตั้งต้นทุติยภูมิก่อให้เกิด PM2.5 จากกิจกรรมของมนุษย์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเชิงพื้นที่และเวลาแบบความละเอียดสูง และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศด้วยวิธีการลดการเกิด PM2.5 ทุติยภูมิจากการรวมตัวของสารตั้งต้นประเภทแอมโมเนีย การแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศด้วยวิธีการลดการเกิด PM2.5 ทุติยภูมิจากการรวมตัวของสารตั้งต้นประเภทแอมโมเนีย

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ 1 Global Research and Innovation

Partners/Stakeholders

เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และนักวิจัยด้านเคมีบรรยากาศ
ภาพประกอบ
การจัดทำบัญชีการระบายมลพิษแอมโมเนียซึ่งเป็นสารตั้งต้นทุติยภูมิก่อให้เกิด PM 2.5 จากกิจกรรมของมนุษย์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
การจัดทำบัญชีการระบายมลพิษแอมโมเนียซึ่งเป็นสารตั้งต้นทุติยภูมิก่อให้เกิด PM 2.5 จากกิจกรรมของมนุษย์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
การจัดทำบัญชีการระบายมลพิษแอมโมเนียซึ่งเป็นสารตั้งต้นทุติยภูมิก่อให้เกิด PM 2.5 จากกิจกรรมของมนุษย์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.