• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Research Highlight

การศึกษาการลดการเกิดและลุกลามของไฟป่าตามแนวทางป่าประชารัฐในพื้นที่ดอยพระบาท จังหวัดลำปาง

A study on reducing the occurrence and spread of forest fires according to the Civil State Forest Guidelines in Doi Phra Bat, Lampamg Province)

แหล่งทุน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ส่วนงานหลัก
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
ส่วนงานร่วม
อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต
ผู้ดำเนินการหลัก
ผศ.ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย
ผู้ดำเนินการรอง
ดร.บริบูรณ์ บุญยู่ฮง
ดร.ไสว วังหงษา
นายชาญ อุทธิยะ
นางสาวดวงพร เกียรติดำรง

คำอธิบาย

สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่รอบดอยพระบาท จังหวัดลำปาง ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่น โดยเฉพาะ PM2.5 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ วัตถุประสงค์เพื่อประเมินสาเหตุของการเกิดไฟป่า แนวทางและวิธีการในการลดการเกิดไฟป่า เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์

เนื้อหา MU-SDGs Case Study

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ

หนึ่งในปัญหาสำคัญระดับชาติของประเทศไทย คือผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สำหรับพื้นที่รอบดอยพระบาท จังหวัดลำปาง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิดจากไฟป่าเป็นสาเหตุหลัก ในการวิจัยครั้งนี้เน้นการหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาไฟในเขตป่าที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ พร้อมทั้งหาแนวทางการฟื้นฟูป่าเพื่อลดการเกิดการลุกลามของไฟป่าบริเวณ ดอยพระบาท จังหวัดลำปาง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย ดังนี้

1) เพื่อหาแรงจูงใจของการเกิดไฟในเขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์
2) เพื่อหาแรงจูงใจ หลักเกณฑ์ วิธีการ เพื่อสร้างความร่วมมือของประชาชน
ในพื้นที่รอบดอยพระบาท ในการที่จะร่วมมือกับรัฐอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3) เพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูป่าที่สอดคล้องกับระบบนิเวศรอบดอยพระบาท
4) เพื่อสร้างเครือข่ายป่าประชารัฐในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณป่ารอบรอยพระบาทอย่างยั่งยืน

การดำเนินการ
วิธีการวิจัยโดยการสำรวจและการสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลลักษณะและองค์ประกอบของป่าชุมชนและป่าธรรมชาติ

การเก็บข้อมูลงานวิจัยโดยสำรวจสังคมพืช และความหนาแน่น ด้วยวิธี Point-Centered Quarter Method (PCQM) โดยการวางระบบจุดสุ่มเลือก (systematic sampling) แล้วแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนรอบจุดสุ่ม โดยลากเส้นตั้งฉากตัดกัน
วัดระยะจากจุดสุ่มไปยังต้นไม้ที่ใกล้ที่สุดในแต่ละส่วน (quarter) โดยวัดถึงจุดกึ่งกลางของต้นไม้ บันทึกระยะในแต่ละ quarter บันทึกชื่อชนิดพันธุ์ไม้ที่วัดขนาดพร้อมทั้งเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก (DBH) ที่ระดับความสูง 1.30 เมตร

ส่วนการสัมภาษณ์ปราชญ์อาวุโสในชุมชน และผู้นำชุมชน ๆ จำนวน 148 คน บริเวณป่าดอยพระบาท และชุมชมในพื้นที่ทั้ง 36 หมู่บ้าน การกำหนดกลุ่มประชากรตัวอย่าง สมการคำนวณการกำหนดกลุ่มประชากรตัวอย่างของ Yamane (1973) การประมวลผลข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์ทางสถิติของป่าชุมชนแต่ละแห่งและเรียบเรียงตามประเด็นข้อมูลที่จำเป็น ในการเปรียบเทียบสภาพป่าชุมชน และเปรียบเทียบสภาพป่าชุมชนกับป่าธรรมชาติ เพื่อนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูความชุ่มชื้นในป่าชุมชน

ผลการดำเนินงาน
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดไฟป่า คือ การล่าสัตว์ รองลงไปคือการเก็บหาของป่า ซึ่งกิจกรรมทั้ง 2 นี้ กล่าวได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของคนรอบดอยพระบาท จึงมีมาตรการแก้ปัญหา เช่น การออกกฎกติกาชุมชนที่เข้มงวด การกำหนดวันห้ามเผา การแบ่งขอบเขตพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านและตำบล รวมถึงขอบเขตระหว่างพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่คนในพื้นที่ และการสร้างเครือข่ายเพื่อลดปัญหา ตลอดจนเครือข่ายฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าดอยพระบาท เครือข่ายป่าประชารัฐจะเชื่อมโยงความคิดและมุมมองของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาไฟป่า แก้ปัญหาฝุ่นควัน ฟื้นฟูป่ารอบดอยพระบาทอย่างเหมาะสม ผ่านการสำรวจ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล และการลงมือทำของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับโครงสร้างป่า
ผลการศึกษาลักษณะสังคมป่าพบว่าชนิดพันธุ์ไม้ทั้งหมด 167 ชนิด เป็นไม้ผลัดใบ 98 ชนิด (58.33%) ไม้กึ่งผลัดใบ 36 ชนิด (21.43%) ไม้ไม่ผลัดใบ 26 ชนิด (15.48%) และไม่สามารถระบุได้ 8 ชนิด (4.76%) รวมถึงสัดส่วนของจำนวนต้นของไม้ผลัดใบ ไม้กึ่งผลัดใบ และไม้ไม่ผลัดใบ เท่ากับ 64.62%: 31.99%: 3.38%
การปรับโครงสร้างป่าเป็นการฟื้นฟูป่าดอยพระบาทให้ทำหน้าที่ทางนิเวศได้ โดยการปลูกไม้ที่พบในพื้นที่เพื่อเป้าหลัก โดยไม้ที่งานวิจัยนี้เลือก คือ ไม้ไม่ผลัดใบที่เหมาะสม จำนวน 8 ชนิดคือ ก่อ กอม ข่อยป่า ดีหมี มะเกลือ มะม่วงป่า สารเต้า และหว้า ไม้ทั้ง 8 ชนิดนี้ล้วนเป็นอาหารของสัตว์ป่า ที่จะช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์
ตามธรรมชาติต่อไป

การนำไปใช้ประโยชน์
จากผลการศึกษาคณะผู้วิจัยได้รวบรวมมาเพื่อนำเสนอเป็นแนวป่าประชารัฐ 2 แนวทาง ดังต่อไปนี้
1) แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะเริ่มต้น
- การกำหนดวันห้ามเผาให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน และจำนวนวันที่ฝนตก ในแต่ละเดือน
- การแบ่งขอบเขตพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านและตำบลให้ชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการป้องกันไฟป่าและฝุ่นควัน
- การกำหนดแนวเขตหรือการแบ่งโซนพื้นที่ของแต่ละบ้าน เช่น ระหว่างพื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าใช้สอย
- การออกกฎกติกาชุมชนเพื่อเป็นกรอบและแนวทาง
- การเก็บข้อมูลผลผลิตจากป่า
- การสร้างเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่องในชุมชน
- การพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพของคนในชุมชน
- การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ
- การสร้างภาคีเครือข่ายและการจัดเวทีแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
2) แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว
- การสร้างความรู้และความเข้าใจ การสร้างเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจในเบื้องต้น
- การปรับโครงสร้างป่า ด้วยการปลูกไม้ไม่ผลัดใบ
- การสร้างเครือข่าย

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

มีแนวทางด้านการลดการเกิดไฟป่าและการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าดอยพระบาทในระยะยาว และสร้างความร่วมมือผ่านเครือข่ายประชาชนในพื้นที่

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

ชุมชน หมู่บ้าน พื้นที่โดยรอบดอยพระบาท จังหวัดลำปาง

Key Message

มาตรการแก้ปัญหา เช่น การออกกฎกติกาชุมชนที่เข้มงวด การกำหนดวันห้ามเผา การแบ่งขอบเขตพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านและตำบล รวมถึงขอบเขตระหว่างพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่คนในพื้นที่ และการสร้างเครือข่ายเพื่อลดปัญหา

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ 1 Global Research and Innovation

Partners/Stakeholders

อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต

ตัวชี้วัด THE Impact Ranking

15.2.1
ภาพประกอบ
การศึกษาการลดการเกิดและลุกลามของไฟป่าตามแนวทางป่าประชารัฐในพื้นที่ดอยพระบาท จังหวัดลำปาง
Image
Image
Image
Image

© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.