• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมเสวนาด้านการวิจัย (Research talk) เรื่อง "ทุนวิจัยจากต่างประเทศ เคล็ดลับทำได้ไม่ยาก"

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมเสวนาด้านการวิจัย (Research talk)
ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2564
ในหัวข้อเรื่อง "ทุนวิจัยจากต่างประเทศ เคล็ดลับทำได้ไม่ยาก"


 

รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ
คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
กล่าวเปิดกิจกรรม
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยงานบริหารการวิจัยร่วมกับสำนักงานวิทยบริการด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมเสวนาด้านการวิจัย หรือ Research Talk ครั้งที1ประจำปีงบประมาณ 2564 ในหัวข้อเรื่อง "ทุนวิจัยจากต่างประเทศ เคล็ดลับทำได้ไม่ยาก" เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างเวลา 13.00 – 15.30 น. ณ ห้องประชุมศาสตรเมธี ดร.พงศ์พิศน์ ปิยะพงศ์ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบรรยายให้ความรู้ เสวนา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ เทคนิคการขอทุนวิจัย การดำเนินโครงการวิจัย ของวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ และเป็นการสร้างบรรยากาศและกระตุ้นให้นักวิจัยมีแนวคิดในการพัฒนาข้อเสนอโครงการแก่แหล่งทุนภายในประเทศและต่างประเทศ

 

การจัดเสวนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกคณะได้แก่ รศ.ดร.กาญจนา นาคะภากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ขอทุนจากสหราชอาณาจักร หรือนิวตันฟันด์ (Newton fund) ด้านสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ หัวหน้าโครงการศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ขอทุนวิจัยนิวตันฟันด์ด้านอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ขอทุนศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง ณ จุฬาลงกรณ์ฯ และดำเนินรายการโดย ศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มาร่วมจุดประเด็น ถอดเคล็ดลับและความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ขอทุนวิจัยในระดับนานาชาติแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง

 

รศ.ดร.กาญจนา นาคะภากร ....ผศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ ......รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ......ศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์

 

 

โดยสามารถสรุปสาระสำคัญจากการเสวนาครั้งนี้ กล่าวคือ
1. เทคนิคการหาแหล่งทุน ผู้สมัครควรดูจากเว็บไซต์ หรือ บทความวิชาการแล้วไปสืบค้นแหล่งทุนเพิ่มเติม ซึ่งในการขอทุน จะมี 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การยื่นขอทุนต่อแหล่งทุน และการหาหัวหน้าโครงการวิจัยฝ่ายต่างประเทศ (PI) เพื่อที่จะร่วมทำโครงการวิจัย


2. ขั้นตอนการสมัครทุน ให้ผู้สมัครเข้าไปที่เว็บไซต์สำหรับยื่นขอทุน ซึ่งจะมี guideline แจ้งรายละเอียดข้อมูลที่แหล่งทุนต้องการ ให้ดาวน์โหลดเอกสารออกมาเพื่อนำไปร่างเบื้องต้น โดยเขียนเป็นไปตามขอบเขตที่แหล่งทุนกำหนด อาจจะมีการกำหนดขอให้มี co-funder สำหรับการขอทุนนั้น เช่น หน่วยงานราชการต่างๆ ควรดูเพิ่มเติมว่าหน่วยงานนั้นๆ มีข้อจำกัดสิ่งใด บางทุนต้องหาที่ปรึกษาก่อน จึงสามารถสมัครทุนได้ ทั้งนี้ผู้สมัครอาจโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลจากแหล่งทุนเพื่อให้เข้าใจข้อกำหนดได้มากขึ้น


3. การหาหัวหน้าโครงการวิจัยฝ่ายต่างประเทศ (PI) โดยผู้สมัครควรส่งอีเมลล์เพื่อแนะนำตัวแก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่สนใจให้ตอบรับเป็นที่ปรึกษา มีเทคนิคคือควรส่งข้อมูลประเด็นวิจัยที่ผู้สมัครมีความต้องการวิจัยและข้อมูลรายละเอียดทุนให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงสถานะของผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับประเภททุนที่จะสมัคร และควรเขียนความมุ่งมั่นเกี่ยวกับผลงานที่ต้องการทำ ความเชี่ยวชาญ ผลงานและประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผลงานตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิมีความสนใจร่วมงานวิจัยด้วย


4. การเขียนร่างโครงการยื่นแหล่งทุน ต้องเขียนตามรูปแบบที่แหล่งทุนกำหนด เพื่อเป็นการให้เกียรติแหล่งทุน และต้องศึกษาความต้องการสาขางานวิจัย (Theme) ของแหล่งทุน รวมทั้ง รูปแบบการเขียนสำนวน ไม่ควรเขียนเยิ่นเย้อ ควรเขียนให้สั้น กระชับ ชัดเจน และตรงประเด็น

 

ภาพบรรยากาศการเสวนา

 

5. ถ้าขอทุนแล้วไม่ผ่านการพิจารณาอาจจะขอคำแนะนำจากแหล่งทุน ที่ปรึกษา หรือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะวางแผนการสมัครใหม่ในอนาคต และ ทั้งนี้สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนข้อเสนอโครงการอย่างยิ่ง คือ การ copy & paste เนื่องจากแหล่งทุนจะตรวจสอบได้ในทันที และต้องเขียนให้ผู้พิจารณาทุน ซึ่งอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญสาขาเดียวกับผู้สมัครสามารถอ่านข้อเสนอโครงการแล้วมีความเข้าใจ สร้างความดึงดูดน่าสนใจ และตระหนักถึงความจำเป็นในการให้ทุนสนับสนุนโครงการ สุดท้ายนี้ ได้แง่คิดสำคัญจากผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวคือการขอทุนต่างประเทศนั้น

ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับการมีประสบการณ์ศึกษา หรือมีเครือข่ายนักวิจัยในต่างประเทศมาก่อน เพราะสามารถทำตามขั้นตอนแนะนำตัวข้างต้นได้ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารเข้าใจกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะภาษาอังกฤษที่สูงมาก สิ่งที่ผู้สมัครทุนควรให้ความสำคัญคือการมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงชิ้นงานของตนเอง ซึ่งเปรียบเสมือนจุดแข็ง การเลือกทำงานที่มีความเชี่ยวชาญ การหาข้อมูลและทำความเข้าใจแหล่งทุนเป็นอย่างดี สมกับคำที่ว่า รู้เขา-รู้เรา มีชัยไปกว่าครึ่ง อันจะส่งผลต่อความสำเร็จในการขอทุนวิจัยต่อไปในอนาคต

 


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.