• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Post Formats

การบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) เรื่อง “ขั้นตอนการส่งบทความในวารสารผ่านระบบสากล Editorial Manager และการสืบค้นดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (Journal Metric) ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานบริหารการวิจัยได้จัดกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ในหัวข้อเรื่อง “ขั้นตอนการส่งบทความในวารสารผ่านระบบสากล Editorial Manager และการสืบค้นดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (Journal Metric) ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ” ในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 13.20 – 15.00 น. แบบออนไลน์ ผ่านทาง Cisco Webex และ Facebook live

โดยมี นางสาวอิสรีย์ อภิญญา Journal manager วารสาร EnNRJ เป็นผู้บรรยาย

 

สรุปเนื้อหาสำคัญแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. ระบบ Editorial Manager

- ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับระบบวารสารออนไลน์ Editorial Manager เป็นระบบสำหรับการส่งบทความทางวิชาการออนไลน์ของ Aries Systems และใช้สำหรับบริหารจัดการงานวารสารทางวิชาการ ที่ใช้กันโดยแพร่หลายในระดับสากล ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้การจัดการงานวารสารง่าย สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งมีการดำเนินงานที่การเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ส่งบทความ บรรณาธิการ และผู้ตรวจประเมินบทความ ระบบยังมีระบบการติดตามและการแจ้งเตือนอัตโนมัติจึงทำให้การทำงานของวารสารเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย

- ขั้นตอนการส่งบทความในวารสารผ่านระบบ Editorial Manager ผู้ใช้งาน จะต้องสมัครเข้าใช้งานหน้าเว็บไซต์ของวารสารที่ผู้เขียนสนใจ ตัวอย่างเช่น วารสาร Environment and Natural Resources Journal (EnNRJ) โดยไปที่ เว็บไซต์ https://www.editorialmanager.com/ennrj/default.aspx โดยผู้เขียนต้อง Register (สำหรับผู้ใช้งานครั้งแรก) และ Login เพื่อส่งบทความเข้าระบบตามขั้นตอน

- ในขั้นตอนการส่งบทความ ผู้แต่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการส่งบทความตั้งแต่การระบุประเภทของบทความ การแนบไฟล์ตามที่วารสารต้องการ การใส่ข้อมูลเบื้องต้นของผู้เขียน รวมทั้งการระบุหมวดหมู่ของบทความ ซึ่งมีความเป็นที่จะต้องระบุให้ถูกต้องและสอดคล้องกับบทความมากที่สุด เนื่องจากหมวดหมู่นี้จะถูกเชื่อมโยงเพื่อให้เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นผู้ตรวจประเมินบทความในขั้นตอนต่อไป และขั้นตอนที่สำคัญของการส่งบทความอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อมูลรายละเอียดของบทความ มีความจำเป็นจะต้องกรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนทั้งหมด ก่อนที่จะทำการส่งบทความ

- สำหรับอาจารย์ยังมีอีกหน้าที่ที่อาจจะได้ใช้งานระบบ EM คือ ท่านได้รับเชิญให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจประเมินบทความ (Reviewer) โดยระบบจะมีอีเมลส่งเชิญไปยังผู้เชี่ยวชาญ ท่านสามารถตอบรับหรือปฏิเสธที่จะอ่านบทความได้ หากตอบรับตรวจประเมิน ลิงก์จะเชื่อมต่อไปยังระบบ EM ในส่วนการประเมินบทความให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการประเมินบทความได้อย่างสะดวก - ระบบ EM จะมีการอัพเดทสถานะของบทความอย่างเป็นปัจจุบัน ซึ่งผู้แต่งสามารถเข้าไปเช็คการอัพเดทได้ตลอดเวลา


 

2. ประกาศมหาวิทยาลัยและส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนค่าตอบแทนผลงานตีพิมพ์ และดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (Journal Metrics) เบื้องต้นและที่เกี่ยวข้องกับประกาศ

- ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประกาศของมหาวิทยาลัย (3 ประกาศ) และส่วนงาน (1 ประกาศ) ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนค่าตอบแทนผลงานตีพิมพ์ หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆ ที่ควรรู้

- ความหมายของดัชนีวัดคุณภาพวารสารที่สำคัญของฐานข้อมูลหลัก 2 ฐานข้อมูล ได้แก่ Scopus และ Web of Science

- การแปลความหมายของดัชนีวัดคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล Scopus ที่สำคัญและจำเป็น ได้แก่ CiteScore, Scimago Journal & Country Rank (SJR) และ Quartile ของ SJR

- การแปลความหมายดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (Journal Metric) ในฐานข้อมูล Web of Science ที่สำคัญและจำเป็น ได้แก่ Journal Impact Factor (JIF) และ Quartile ของ JIF

- สาธิตขั้นตอนและวิธีการสืบค้นข้อมูลดัชนีวัดคุณภาพวารสาร ได้แก่ 1) การสืบค้นค่า Top10% ในฐานข้อมูล 2) การสืบค้นข้อมูลวารสารในฐานข้อมูล Scopus และข้อมูลของดัชนีวัดคุณภาพวารสารที่ควรรู้ 3) การสืบค้นข้อมูลวารสารในฐานข้อมูล Web of Science และข้อมูลของดัชนีวัดคุณภาพวารสารที่ควรรู้

โดยการบรรยายนี้ผู้เข้าร่วมชมจำนวน 57 คน

รับชมย้อนหลัง | เอกสารประกอบการบรรยาย EM | Journal Metric


สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2564
หัวข้อ เรื่อง “สิ่งที่ควรรู้ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และแนวคิดการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยรูปแบบใหม่"

ผู้บรรยาย ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 -15.30 น. ผ่านระบบ Cisco Webex และ Facebook Live

สรุปเนื้อหาโดย ยุทธพล ผ่องพลีศาล งานบริหารการวิจัย

 

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยงานบริหารการวิจัยร่วมกับสำนักงานวิทยบริการด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย หรือ Research Talk ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2564 ในหัวข้อเรื่อง "สิ่งที่ควรรู้ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และแนวคิดการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยรูปแบบใหม่" เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเวลา 13.00 – 15.30 น. ผ่านระบบ Cisco Webex และ Facebook Live โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ประจำปี 2556 และ 2559 เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายผ่านทั้งสองระบบดังกล่าวจำนวน 103 คน ทั้งบุคลากรภายในส่วนงาน และภายนอกส่วนงาน อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก    

เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อบรรยายให้ความรู้ เทคนิคการขอทุนวิจัย และแนวคิดการดำเนินโครงการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามจุดมุ่งหมายของทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมทั้งกล่าวเปิดกิจกรรมโดยรองศาสตราจารย์ ดร. จำลอง อรุณเลิศอารีย์ รองคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพากรศาสตร์ จากนั้นเป็นการกล่าวแนะนำกำหนดการและประวัติวิทยากรโดยคุณสวัสดิรักษ์ ใสงาม หัวหน้างานบริหารการวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์

 

      รศ. ดร.จำลอง อรุณเลิศอารีย์ 

รองคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
กล่าวเปิดกิจกรรม

จากนั้นเป็นการบรรยายโดยวิทยากร ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช โดยในช่วงแรกได้กล่าวถึงบริบทวิจัยไทยในโครงสร้างใหม่ สิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นสำหรับอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ และบริบทผู้ทำวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความเชื่อมโยงเป็นระบบตั้งแต่ระดับผู้จัดทำข้อเสนอการวิจัย ได้แก่นักศึกษาต่ำกว่าระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท-ป.เอก) ซึ่งผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้นจากระดับผู้ตรวจสอบปรับปรุงผลงาน ได้แก่ นักวิจัยหลังปริญญาเอก (Post-Doctoral) และระดับผู้ตัดสินใจหรือนำเสนอผลงาน ได้แก่ นักวิจัยอาวุโส หรือ อาจารย์ประจำที่มีตำแหน่งทางวิชาการต่าง ๆ ของส่วนงาน เพื่อตรวจสอบ แก้ไข หรือปรับปรุงข้อเสนอการวิจัยในขั้นสุดท้ายก่อนที่จะยื่นเสนอต่อแหล่งทุนต่าง ๆ (Funding Program manager) อันนำมาสู่หัวข้อสำคัญของการบรรยายในครั้งนี้ เกี่ยวกับแนวทางการเตรียมข้อเสนอโครงการ เพื่อนำไปสู่การได้รับทุนวิจัย และการสร้างผลงานวิจัยอย่างมีคุณภาพ 

 

ในช่วงถัดมา เป็นการบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับทุน ววน. ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยต้องเรียนรู้ ศึกษาให้เข้าใจและพัฒนาเทคนิคเพื่อเตรียมจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยและนำเสนอแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญได้แก่

  •  ประเภทงานวิจัย แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ 1) งานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ กล่าวคือ เป็นงานวิจัยเน้นสร้างผลกระทบหรือสร้างแก่นความรู้ และ 2) งานวิจัยเพื่อขยายฐานองค์ความรู้ กล่าวคือ เป็นงานวิจัยที่มุ่งขยายฐานองค์ความรู้ในสิ่งที่มีผู้สร้างองค์ความรู้หรือศึกษามาก่อนแล้ว โดยพบว่าส่วนใหญ่นักวิจัยไทยจะมุ่งเน้นสร้างงานวิจัยประเภทที่ 2 เป็นหลัก จึงต้องเพิ่มผลงานประเภทที่ 1 เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในวงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอตำแหน่งวิชาการในระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไปควรเน้นสร้างผลงานวิจัยในลักษณะดังกล่าวนี้
  • เป้าหมายหรือผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objective Key Results) หรือ OKRs เป็นรูปแบบการเขียนดัชนี้ชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ของข้อเสนอโครงการวิจัยในปัจจุบัน กล่าวคือ โครงการต้องมีความแปลกใหม่ เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นสำคัญ มีผลสัมฤทธิ์ทั้งทางวิชาการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จำนวนการเผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพสูงและได้รับการอ้างอิงสม่ำเสมอ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ ได้เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการภายนอกส่วนงาน นอกจากนั้นแหล่งทุนบางประเภท อาจต้องการตัวชี้วัดประเภททรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) อาทิ สิทธิบัตรต่าง ๆ  ด้วย    
  •  ประเภทแหล่งทุน แบ่งเป็น 5 ประเภทที่สำคัญ ได้แก่ (1) ทุนสนับสนุนจากเงินรายได้คณะ/มหาวิทยาลัย (2) ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) หรือ SF.  เป็นงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ชาติ เหมาะสำหรับนักวิจัยผู้มีประสบการณ์ (3) ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Research Fund) หรือ FF. เป็นทุนมุ่งเน้นการเผยแพร่ผลงานตีพิมพ์เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โดย สกสว.จัดสรรงบประมาณโดยตรงแก่มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถกำหนดแนวทางหัวข้อวิจัย คุณสมบัตินักวิจัย การเปิดรับข้อเสนอโครงการและคัดเลือกผู้ที่ได้รับทุนตามเกณฑ์เฉพาะของมหาวิทยาลัย (4) ทุนวิจัยหน่วยงานรัฐ / รัฐวิสาหกิจ และ (5) ทุนวิจัยจากหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่ใม่ได้อยู่ในระบบ อววน. อันมีข้อแนะนำว่านักวิจัยไม่ควรส่งข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่องเดียวกันซ้ำซ้อนหลายแหล่งทุน เนื่องจากเป็นข้อกำหนดทั่วไปของการประกาศรับทุน และสามารถตรวจสอบผ่านระบบ NRIIS ได้    
  •  สิ่งที่ควรรู้ในการเขียนข้อเสนอโครงการ (Proposal) ที่สำคัญ โดยนักวิจัยต้องรู้รายละเอียด ตั้งแต่ Format Template อัตรางบประมาณแต่ละหมวด (Budget Management) การเปิดรับ Concept Proposal และ/หรือ Full Proposal รวมทั้งการระบุประเภทโครงการวิจัยเดี่ยว หรือชุดโครงการ ข้อกำหนดระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี หรือ TRL ตลอดจน OKRs ของแต่ละแหล่งทุนซึ่งมีความแตกต่างกัน
 

แนวทางการจัดสรรงบประมาณ ววน. ปัจจุบันงบประมาณดังกล่าวส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ถูกจัดสรรเป็นทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (SF.) แก่หน่วยงานด้านการให้ทุน (7PMUs) และร้อยละ 40 ถูกจัดสรรเป็นทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (FF.) แก่สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 96 สถาบัน หน่วยงานด้านการวิจัยที่ไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 75 หน่วยงาน เช่น MTEC NECTEC เป็นต้น นักวิจัยจึงควรศึกษายุทธศาสตร์ อววน. เพื่อการพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย 4 Platform / 16 Program และ Program 17: การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากแหล่งทุนแต่ละแห่งรับผิดชอบแพลตฟอร์มการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์อันแตกต่างกัน เพื่อประเมินความสอดคล้องของข้อเสนอโครงการกับความต้องการของแหล่งทุน รวมทั้งมีกรอบกติกา และเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ อาทิ  In Kind/In Cash จากภาคเอกชน  

 

        แพลตฟอร์มและโปรแกรมการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ และแหล่งทุน (PMU) ที่รับผิดชอบ

 

  • ระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) มี 9 ระดับกล่าวคือนักวิจัยต้องกำหนดตำแหน่ง (Positioning) ข้อเสนอโครงการวิจัยว่ามีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่ในระดับใด สอดคล้องกับเงื่อนไขของแหล่งทุน (PMU) หรือไม่ และยื่นภายใต้โปรแกรมอะไร โดยทั่วไประดับ 1-3 เป็นงานวิจัยประเภทการพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยพื้นฐาน ซึ่งเหมาะสมกับการสนับสนุนทุนของ วช. หรือ บพค. ระดับ 4-5 ระดับ 6-7 และระดับ 8 เป็นต้นแบบห้องปฏิบัติการ ต้นแบบภาคสนาม และต้นแบบภาคสนามที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งเหมาะสมกับการสนับสนุนทุนของ สวก. สวรส. บพท. และ บพข. ตามลำดับ และระดับ 9 เป็นงานวิจัยที่มีเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งถูกนำไปใช้งานจริงโดยลูกค้า จึงเหมาะสมกับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ภาคเอกชน หรือ สถาบันการเงินต่าง ๆ

ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (TRL) และแหล่งทุน (PMU) ที่เหมาะสม

 

               ในส่วนคำถามจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวได้ว่ามีผู้สนใจสอบถามข้อสงสัย ขอคำแนะนำ และข้อเสนอแนะจากวิทยากรเกี่ยวกับเทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการอย่างน่าสนใจ อาทิ

  • แนวทางการพิจารณาประเภทแหล่งทุน (PMU) ระดับ TRL ที่เหมาะสมกับการต่อยอดโครงการวิจัยซึ่งได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาหรือมีเงื่อนไขความต้องการร่วมมือกับภาคเอกชน
  • การทำความเข้าใจข้อกำหนด OKRs ของแหล่งทุนที่ปรากฏในระบบ NRIIS เพื่อประยุกต์ให้สอดคล้องกับการเขียนผลที่คาดว่าจะได้รับในข้อเสนอโครงการวิจัย
  • เกณฑ์ หรือตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนการดำเนินงานในข้อเสนอโครงการวิจัยที่แหล่งทุนใช้ประกอบการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแหล่งทุนภายใต้การกำกับของ สอวช. เช่น บพข. บพท. เป็นต้น
  • แนวทางการเขียนระยะเวลาส่งมอบผลผลิตจากงานวิจัยอย่างเหมาะสมในข้อเสนอโครงการวิจัย

           ซึ่งได้รับคำตอบ คำแนะนำ เทคนิคน่ารู้ ตลอดจนข้อพิจารณาหรือข้อควรระวังอันเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ผลงานหรือการเจรจาความร่วมมืองานวิจัยกับภาคเอกชน จากประสบการณ์ของวิทยากรเป็นอย่างดี  
ในช่วงสุดท้าย เป็นการแนะนำตัวอย่างการเขียนข้อเสนอโครงการให้มีความน่าสนใจ กล่าวคือนักวิจัยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความแปลกใหม่และมีจุดขายในข้อเสนอโครงการวิจัย มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นสำคัญ มีลักษณะบูรณาการสหสาขาวิทยาการ (Multidisciplinary) มีความร่วมมือจากนักวิจัยหลากหลายสาขาวิชา มีลักษณะคร่อมศาสตร์ สามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการ ทั้งการเผยแพร่ผลงาน การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ การสร้างเครือข่ายนักวิจัย และเกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยนักวิจัยที่มีประสบการณ์สูงควรเลือกเสนอเป็นชุดโครงการ โครงการย่อยต้องมีความสอดคล้อง (synchronize) กับโครงการชุด ในขณะที่นักวิจัยประสบการณ์น้อยอาจเสนอเป็นโครงการเดี่ยวหรือโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ และหัวใจสำคัญอยู่ที่ การเขียนบทสรุปผู้บริหารให้มีความน่าสนใจ ชี้ให้เห็นถึงความใหม่ของงานวิจัย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือเกิดผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ การระบุ TRL อย่างสอดคล้อง ตลอดจนเทคนิคการใช้รูปภาพ / Infographic ต่าง ๆ บรรยายแทนข้อความเพื่อลดจำนวนหน้า ดึงดูดความสนใจ และประหยัดเวลาในการอ่านข้อเสนอโครงการของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ได้แนะนำให้นักวิจัยควรเตรียมข้อเสนอโครงการล่วงหน้า โดยสามารถศึกษาข้อมูลปฏิทินทุนวิจัยของแหล่งทุนต่าง ๆ เรียนรู้ข้อกำหนดและเงื่อนไขการพิจารณา และดูตัวอย่างรายชื่อข้อเสนอโครงการวิจัยที่ได้รับทุนตามแพลตฟอร์มและโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง จะทำให้สามารถประเมินความต้องการของแหล่งทุนได้  

 


สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมเสวนาด้านการวิจัย (Research talk)
ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2564
ในหัวข้อเรื่อง "ทุนวิจัยจากต่างประเทศ เคล็ดลับทำได้ไม่ยาก"


 

รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ
คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
กล่าวเปิดกิจกรรม
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยงานบริหารการวิจัยร่วมกับสำนักงานวิทยบริการด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมเสวนาด้านการวิจัย หรือ Research Talk ครั้งที1ประจำปีงบประมาณ 2564 ในหัวข้อเรื่อง "ทุนวิจัยจากต่างประเทศ เคล็ดลับทำได้ไม่ยาก" เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างเวลา 13.00 – 15.30 น. ณ ห้องประชุมศาสตรเมธี ดร.พงศ์พิศน์ ปิยะพงศ์ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบรรยายให้ความรู้ เสวนา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ เทคนิคการขอทุนวิจัย การดำเนินโครงการวิจัย ของวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ และเป็นการสร้างบรรยากาศและกระตุ้นให้นักวิจัยมีแนวคิดในการพัฒนาข้อเสนอโครงการแก่แหล่งทุนภายในประเทศและต่างประเทศ

 

การจัดเสวนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกคณะได้แก่ รศ.ดร.กาญจนา นาคะภากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ขอทุนจากสหราชอาณาจักร หรือนิวตันฟันด์ (Newton fund) ด้านสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ หัวหน้าโครงการศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ขอทุนวิจัยนิวตันฟันด์ด้านอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ขอทุนศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง ณ จุฬาลงกรณ์ฯ และดำเนินรายการโดย ศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มาร่วมจุดประเด็น ถอดเคล็ดลับและความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ขอทุนวิจัยในระดับนานาชาติแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง

 

รศ.ดร.กาญจนา นาคะภากร ....ผศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ ......รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ......ศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์

 

 

โดยสามารถสรุปสาระสำคัญจากการเสวนาครั้งนี้ กล่าวคือ
1. เทคนิคการหาแหล่งทุน ผู้สมัครควรดูจากเว็บไซต์ หรือ บทความวิชาการแล้วไปสืบค้นแหล่งทุนเพิ่มเติม ซึ่งในการขอทุน จะมี 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การยื่นขอทุนต่อแหล่งทุน และการหาหัวหน้าโครงการวิจัยฝ่ายต่างประเทศ (PI) เพื่อที่จะร่วมทำโครงการวิจัย


2. ขั้นตอนการสมัครทุน ให้ผู้สมัครเข้าไปที่เว็บไซต์สำหรับยื่นขอทุน ซึ่งจะมี guideline แจ้งรายละเอียดข้อมูลที่แหล่งทุนต้องการ ให้ดาวน์โหลดเอกสารออกมาเพื่อนำไปร่างเบื้องต้น โดยเขียนเป็นไปตามขอบเขตที่แหล่งทุนกำหนด อาจจะมีการกำหนดขอให้มี co-funder สำหรับการขอทุนนั้น เช่น หน่วยงานราชการต่างๆ ควรดูเพิ่มเติมว่าหน่วยงานนั้นๆ มีข้อจำกัดสิ่งใด บางทุนต้องหาที่ปรึกษาก่อน จึงสามารถสมัครทุนได้ ทั้งนี้ผู้สมัครอาจโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลจากแหล่งทุนเพื่อให้เข้าใจข้อกำหนดได้มากขึ้น


3. การหาหัวหน้าโครงการวิจัยฝ่ายต่างประเทศ (PI) โดยผู้สมัครควรส่งอีเมลล์เพื่อแนะนำตัวแก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่สนใจให้ตอบรับเป็นที่ปรึกษา มีเทคนิคคือควรส่งข้อมูลประเด็นวิจัยที่ผู้สมัครมีความต้องการวิจัยและข้อมูลรายละเอียดทุนให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงสถานะของผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับประเภททุนที่จะสมัคร และควรเขียนความมุ่งมั่นเกี่ยวกับผลงานที่ต้องการทำ ความเชี่ยวชาญ ผลงานและประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผลงานตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิมีความสนใจร่วมงานวิจัยด้วย


4. การเขียนร่างโครงการยื่นแหล่งทุน ต้องเขียนตามรูปแบบที่แหล่งทุนกำหนด เพื่อเป็นการให้เกียรติแหล่งทุน และต้องศึกษาความต้องการสาขางานวิจัย (Theme) ของแหล่งทุน รวมทั้ง รูปแบบการเขียนสำนวน ไม่ควรเขียนเยิ่นเย้อ ควรเขียนให้สั้น กระชับ ชัดเจน และตรงประเด็น

 

ภาพบรรยากาศการเสวนา

 

5. ถ้าขอทุนแล้วไม่ผ่านการพิจารณาอาจจะขอคำแนะนำจากแหล่งทุน ที่ปรึกษา หรือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะวางแผนการสมัครใหม่ในอนาคต และ ทั้งนี้สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนข้อเสนอโครงการอย่างยิ่ง คือ การ copy & paste เนื่องจากแหล่งทุนจะตรวจสอบได้ในทันที และต้องเขียนให้ผู้พิจารณาทุน ซึ่งอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญสาขาเดียวกับผู้สมัครสามารถอ่านข้อเสนอโครงการแล้วมีความเข้าใจ สร้างความดึงดูดน่าสนใจ และตระหนักถึงความจำเป็นในการให้ทุนสนับสนุนโครงการ สุดท้ายนี้ ได้แง่คิดสำคัญจากผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวคือการขอทุนต่างประเทศนั้น

ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับการมีประสบการณ์ศึกษา หรือมีเครือข่ายนักวิจัยในต่างประเทศมาก่อน เพราะสามารถทำตามขั้นตอนแนะนำตัวข้างต้นได้ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารเข้าใจกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะภาษาอังกฤษที่สูงมาก สิ่งที่ผู้สมัครทุนควรให้ความสำคัญคือการมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงชิ้นงานของตนเอง ซึ่งเปรียบเสมือนจุดแข็ง การเลือกทำงานที่มีความเชี่ยวชาญ การหาข้อมูลและทำความเข้าใจแหล่งทุนเป็นอย่างดี สมกับคำที่ว่า รู้เขา-รู้เรา มีชัยไปกว่าครึ่ง อันจะส่งผลต่อความสำเร็จในการขอทุนวิจัยต่อไปในอนาคต

 


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


Accordion Menu

Newsletter Subscribe

About The Flex

Good seasons, day place male evening life after together gathered let void she'd grass created days upon after above great. Creative, prolific and ever-ready to serve you.


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.