• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Post Formats

การบรรยาย Research Talk ครั้งที่ 1/2565 เรื่อง “อัพเดทสถานการณ์ทุนวิจัย รู้เขารู้เรา เตรียมพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ”

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2565

หัวข้อเรื่อง “อัพเดทสถานการณ์ทุนวิจัย รู้เขารู้เรา เตรียมพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ”

ผู้บรรยายโดย นายยุทธพล ผ่องพลีศาล เจ้าหน้าที่วิจัย (ผู้ชำนาญการพิเศษ)

ร่วมด้วยแขกรับเชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มณฑิรา ยุติธรรม และ อาจารย์ ดร. บุญลือ คะเชนทร์ชาติ

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.15 -15.00 น. ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทาง Cisco Webex

สรุปสาระสำคัญโดย ยุทธพล ผ่องพลีศาล งานบริหารการวิจัย

 

 

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยงานบริหารการวิจัยร่วมกับสำนักงานวิทยบริการด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2565 ในหัวข้อเรื่อง “อัพเดทสถานการณ์ทุนวิจัย รู้เขารู้เรา เตรียมพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ" เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเวลา 13.15 – 15.30 น. ผ่านระบบ Cisco Webex โดยมี นายยุทธพล ผ่องพลีศาล เจ้าหน้าที่วิจัย (ผู้ชำนาญการพิเศษ) สังกัดงานบริหารการวิจัย เป็นวิทยากรหลัก ร่วมกับแขกรับเชิญ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มณฑิรา ยุติธรรม และอาจารย์ ดร. บุญลือ คะเชนทร์ชาติ มาบรรยายให้ความรู้และประสบการณ์ในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 42 คน จากคณาจารย์ นักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย และบุคลากรภายในส่วนงาน

เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม กล่าวแนะนำกำหนดการ และประวัติวิทยากรโดยคุณณัฐกานต์ รัชกุล เจ้าหน้าที่วิจัย รวมทั้งกล่าวเปิดกิจกรรมโดยศาสตราจารย์ ดร. สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอข้อมูลตัวอย่างแผนงานวิจัยในระบบ ววน. ที่ใช้ในปัจจุบัน สถานการณ์การเสนอโครงการวิจัยในช่วงที่ผ่านมา ร่วมเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จจากนักวิจัยภายในองค์กร ข้อมูลทุนวิจัยที่จะเปิดรับในปีงบประมาณ 2565 และนำเสนอแบบสำรวจข้อมูลความต้องการทำงานวิจัยของนักวิจัย เพื่อที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับทราบข้อมูลและบริบทสถานการณ์ด้านทุนวิจัยและนำไปปรับใช้ในการเสนอโครงการวิจัยแก่แหล่งทุนต่าง ๆ ได้ต่อไป 

                                                                 

รูปที่ 1: บรรยากาศการจัดกิจกรรม 

 

จากนั้นเป็นการบรรยายโดยวิทยากรหลักของกิจกรรม โดยในช่วงแรก ได้กล่าวถึงตัวอย่าง “หัวข้อวิจัยตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2563 - 2565” มีรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ โครงสร้างและการจัดสรรงบประมาณด้านววน. (รูปที่ 2) แพลตฟอร์มการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า “4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม” นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนที่เกี่ยวข้องกับแผนด้านววน. ในปัจจุบัน หน่วยบริหารจัดการโปรแกรม (PMU) เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ (OKRs) และตัวอย่างแผนงานวิจัยในระยะ 3 ปี (รูปที่ 3) รวมทั้งตัวอย่างหัวข้อวิจัยโปรแกรม 17: การแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสถานการณ์ระบาด COVID-19 และภัยแล้งและวิกฤตน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอย่างมาก เพื่อเป็นการทบทวนข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานวิจัยในระบบ ววน. ตามแพลตฟอร์ม โปรแกรม และ PMU ที่รับผิดชอบ

 


รูปที่ 2: แสดงโครงสร้างและการจัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงานวิจัยในระบบ ววน.

 


รูปที่ 3: แสดงตัวอย่างแผนงานวิจัยตามแผนด้านววน. พ.ศ.2563 - 2565  


ในช่วงที่สอง เป็นการนำเสนอ “สถานการณ์การส่งข้อเสนอการวิจัย” ในช่วงระยะเวลา 6 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2559-2563 (รูปที่ 4) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นที่ข้อมูลการส่งข้อเสนอการวิจัย ในช่วง 2 ปีย้อนหลัง (ปีงบประมาณ 2563 -2564) กว่า 97 โครงการ จำแนกทั้งแพลตฟอร์มการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์และตามแหล่งทุน (PMU) เพื่อที่จะให้นักวิจัยทราบถึงภาพรวมสถานการณ์การส่งข้อเสนอการวิจัย แนวโน้มอัตราความสำเร็จ แหล่งทุน และประเภททุนที่นิยมส่ง และมีการสัมภาษณ์นักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นแขกรับเชิญในช่วงดังกล่าว 2 ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มณฑิรา ยุติธรรม และ อาจารย์ ดร. บุญลือ คะเชนทร์ชาติ (รูปที่ 5) เพื่อบอกเล่าแนวทางการเตรียมความพร้อม เทคนิคการจัดทำข้อเสนอโครงการ และปัจจัยสู่ความสำเร็จในการเสนอโครงการวิจัยแก่แหล่งทุน อันมีสาระสำคัญจากประสบการณ์และข้อแนะนำจากทั้ง 2 ท่าน กล่าวคือ การเขียนข้อเสนอทุนวิจัยให้หาประเด็นที่เป็น Research Gap เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีการสร้างเครือข่ายนักวิจัยทั้งภายในส่วนงาน หน่วยงานภายนอก และมีความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ศึกษา ข้อเสนอการวิจัยต้องสอดคล้องกับ OKRs มีงบประมาณที่เหมาะสมสอดคล้องตามข้อกำหนดของแหล่งทุน มีความเป็นบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยสามารถแสดงการนำไปใช้ประโยชน์ที่ชัดเจนทั้งในระดับพื้นที่จนถึงระดับชาติเมื่อเสร็จสิ้นการวิจัย จนถึงการต่อยอดในอนาคต จะทำให้ข้อเสนอการวิจัยมีความน่าสนใจและได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุน

 

รูปที่ 4: แสดงสถานการณ์การส่งข้อเสนอการวิจัยและอัตราความสำเร็จในช่วง 6 ปีย้อนหลัง 

 

รูปที่ 5: ช่วงสัมภาษณ์นักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 



ในช่วงที่สาม ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบรรยาย เนื่องจากเป็นข้อมูลสำคัญที่นักวิจัยจะได้รับทราบ “ข้อมูลทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับในปีงบประมาณ 2565” โดยเน้นแหล่งทุนวิจัยในระบบ ววน. ที่นักวิจัยนิยมส่งข้อเสนอโครงการ (รูปที่ 6) มานำเสนอในรูปแบบปฏิทินทุนวิจัยและช่วงเดือนที่จะเปิดรับ (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) อาทิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) และข้อมูลทุนวิจัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัย และเงินรายได้ส่วนงาน รวมทั้งแนวทางการพิจารณาข้อเสนอการวิจัยของแหล่งทุนที่สำคัญ (รูปที่ 7) อันประกอบไปด้วย ขั้นตอนการส่งข้อเสนอโครงการ เกณฑ์การพิจารณาโครงการ และเงื่อนไขสำคัญเฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นข้อมูลแก่นักวิจัยในการวางแผนจัดเตรียมข้อเสนอโครงการได้ทันเวลา

 


รูปที่ 6: ตัวอย่างปฏิทินทุนวิจัย

 
รูปที่ 7: ตัวอย่างข้อมูลเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอการวิจัยของแหล่งทุน


ในช่วงสุดท้าย เป็นการแนะนำ “แบบสำรวจข้อมูลความต้องการเสนองานวิจัย” (Researcher portfolio) (รูปที่ 8) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น ในรูปแบบ Concept Proposal จากนักวิจัยเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญ ความสนใจที่จะทำวิจัย platform/program/PMU ที่เกี่ยวข้อง แนวคิดโครงการ กลุ่มเป้าหมายฯ การนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งโครงการที่คาดว่าจะเสนอ หรือที่จะต่อยอดในอนาคต ซึ่งนักวิจัยสามารถส่งข้อมูลแบบสำรวจได้ตลอดเวลา เพี่อที่ผู้ประสานงานจะตรวจสอบกับประวัติการเสนองานวิจัยในฐานข้อมูล (Portfolio) (รูปที่ 9) ช่วยหาข้อมูลจากแหล่งทุนล่วงหน้า แนะนำแนวทางแก่นักวิจัยในการวางแผนเสนอโครงการต่อแหล่งทุนที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


รูปที่ 8: ตัวอย่างแนวคำถามในแบบสำรวจข้อมูลความต้องการเสนองานวิจัย


รูปที่ 9: ประวัติการเสนองานวิจัย (Folio) ย้อนหลังของนักวิจัยในฐานข้อมูลงานวิจัยและบริการวิชาการ

ข้อมูลเพิ่มเติม 

ดาวน์โหลดเอกสารการบรรยาย

• ดาวน์โหลดปฏิทินทุนวิจัยและแบบสำรวจ: https://en.mahidol.ac.th/th/fundcalendar

• ดาวน์โหลดเอกสารแผนด้านววน.และคู่มือแหล่งทุนต่างๆ: https://en.mahidol.ac.th/th/guidelines 

 



 


Accordion Menu

Newsletter Subscribe

About The Flex

Good seasons, day place male evening life after together gathered let void she'd grass created days upon after above great. Creative, prolific and ever-ready to serve you.


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.