สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 18 พฤศจิกายน 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด ช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายนนี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ฉบับที่ 54 หลัง กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศช่วงวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านบริเวณปลายแหลมญวน อ่าวไทยตอนบน เข้าสู่แนวร่องมรสุมที่เลื่อนขึ้นมาพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน คือ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังในจังหวัดเพชรบุรี บริเวณอำเภอท่ายาง บ้านลาดชะอำ แก่งกระจาน และเมืองเพชรบุรี // ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณอำเภอบางสะพาน เมืองประจวบคีรีขันธ์ ทับสะแก บางสะพานน้อย และกุยบุรี // ระนอง บริเวณอำเภอละอุ่น // ชุมพร บริเวณอำเภอปะทิว เมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม ท่าแซะ และพะโต๊ะ // สุราษฎร์ธานี บริเวณอำเภอดอนสัก เกาะสมุย กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เกาะพะงัน เมืองสุราษฎร์ธานี บ้านนาเดิม พุนพิน พนม บ้านตาขุน และท่าชนะ // พังงา บริเวณอำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง เมืองพังงา กะปง ทับปุด และตะกั่วทุ่ง // ภูเก็ต บริเวณอำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต // กระบี่ บริเวณอำเภอปลายพระยา อ่าวลึก และเมืองกระบี่ // ตรัง บริเวณอำเภอนาโยง เมืองตรัง ห้วยยอด และรัษฎา // นครศรีธรรมราช บริเวณอำเภอทุ่งสง ลานสกา ร่อนพิบูลย์ ขนอม ช้างกลาง นาบอน พระพรหม จุฬาภรณ์ สิชล เมืองนครศรีธรรมราช นบพิตำ ฉวาง พรหมคีรี เฉลิมพระเกียรติ พิปูน ทุ่งใหญ่ ชะอวด ถ้ำพรรณรา ท่าศาลา บางขัน และปากพนัง // พัทลุง บริเวณอำเภอศรีนครินทร์ ศรีบรรพต เมืองพัทลุง ควนขนุน และป่าพะยอม // สตูล บริเวณอำเภอละงู และเมืองสตูล พร้อมทั้ง เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง
ทั้งนี้ กอนช. ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำลดผลกระทบจากปริมาณน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง