• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

"อรรถพล" ย้ำ สารเคมีที่รั่วไหลจากโรงงานใน จ.นครปฐม จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มาก เพราะสารเคมีที่รั่วไหลมีปริมาณน้อย โดยจะให้เจ้าหน้าที่หมุนเวียนลงตรวจสอบสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 กันยายน 2565

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ย้ำ สารเคมีที่รั่วไหลจากโรงงานบริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) จ.นครปฐม จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มาก เพราะสารเคมีที่รั่วไหลมีปริมาณน้อย โดยจะให้เจ้าหน้าที่หมุนเวียนลงตรวจสอบสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดินและน้ำบริเวณพื้นที่รอบโรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมพิษ (คพ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลประมาณ 30 ลิตร ของโรงงาน บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ว่า พบสารเคมีที่รั่วไหลออกมาเป็นสารน้ำมันถ่ายเทความร้อนที่มีส่วนผสมของสารไดฟีนิลและไบฟีนิล ส่วนกลิ่นที่เกิดขึ้นมาจากสารตกแต่งกลิ่นที่ผสมอยู่ สิ่งที่ทำให้ตรวจสอบได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุรั่วไหลของสารเคมีภายในโรงงาน คพ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่รัศมีประมาณ 20 กิโลเมตร เพื่อตรวจสอบอากาศและหาสารตกค้างในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากตัวสารน้ำมันถ่ายเทความร้อนที่รั่วไหลออกมาเป็นสารระเหยทำให้ลอยขึ้นไปในบรรยากาศได้ไว และกระจายตัวเป็นวงกว้างจึงทำให้ประชาชนได้รับกลิ่นเหม็น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพขนาดที่ทำให้สารก่อมะเร็งได้ เพราะมีปริมาณน้อย สูดดมในระยะสั้น แล้วเมื่อเวลาผ่านไปกลิ่นจะค่อยๆจาง ส่วนสารเคมีตัวดังกล่าวจะค่อยๆเจือจางลงและสลายจนหายไปเอง ทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนักหากเทียบกับเหตุกรณีโรงงานอื่นที่เคยเกิดสารเคมีรั่วไหลในลักษณะเดียวกัน

อธิบดีกรมควบคุมพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน คพ.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบตามแหล่งน้ำ หรือท่อระบายน้ำต่างๆ และผิวดินโดยรอบโรงงานที่เกิดเหตุ เพื่อหาสารตกค้างแล้วจะประเมินความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่า มีโอกาสน้อยที่จะพบเพราะสารเคมีที่รั่วไหลมีปริมาณน้อยและอาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับต้นตอของปัญหาที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องไปตรวจสอบหาสาเหตุและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก ขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานดังกล่าวต้องรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะเรื่องเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.