• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง หลังฝนตกติดต่อหลายวัน พร้อมบริหารจัดการน้ำลดผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 กรกฎาคม 2565

กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน พร้อมบริหารจัดการน้ำตามเกณฑ์ ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 42,776 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่าง ยังสามารถรับน้ำได้อีก 33,308 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวมกัน 10,274 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่าง สามารถรับน้ำได้อีก 14,597 ล้าน ลบ.ม. และเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น

กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งประกาศแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบริหารจัดการน้ำยังคงเป็นไปตามแผน ทั้งนี้ จากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 25-28 กรกฏาคมนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29-31 กรกฏาคมนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้

จึงได้กำชับให้โครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ใช้ระบบโทรมาตรมาช่วยในแจ้งเตือนประชาชนก่อนการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.