• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ไทย พบประชากรโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายเพียง 14 ตัวบริเวณทะเลสาบสงขลา พร้อมเร่งหาแนวทางป้องกันและเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีให้เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อลดความเสี่ยงสูญพันธุ์

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 พฤษภาคม 2565

ประเทศไทย พบประชากรโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายเพียง 14 ตัวบริเวณทะเลสาบสงขลา พร้อมเร่งหาแนวทางป้องกันและเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีให้เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อลดความเสี่ยงสูญพันธุ์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์โลมาอิรวดีในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีประชากรโลมาอิรวดีเหลืออยู่เพียง 14 ตัว ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นฝูงสุดท้ายของไทย หลังเคยสำรวจเมื่อ 30 ปีก่อนพบมีโลมาอิรวดีในประเทศมากกว่า 100 ตัว ภาพรวมจากรายงานการเกยตื้นของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 - มีนาคม 2565 พบโลมาอิรวดีเกยตื้นตายถึง 94 ตัว สาเหตุมาจากการติดเครื่องมือประมง ไม่ทราบสาเหตุ และป่วยตาย โดยพื้นที่พบส่วนใหญ่อยู่ใน จ.สงขลาและพัทลุง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างได้สำรวจประชากรโลมาอิรวดีด้วยวิธีทางเรือ สำรวจทางอากาศโดยเครื่องบินเล็ก และอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อดูแลและเฝ้าระวังมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วงปี 2561 ได้ประกาศแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา แต่แนวโน้มประชากรยังคงลดลง โดยปี 2558 พบเพียง 27 ตัว แต่ปัจจุบันปีนี้เหลืออยู่ 14 ตัวเท่านั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจตราเฝ้าระวังมากขึ้น ควบคู่กับป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือหยุดการใช้เครื่องมือที่เป็นภัยคุกคามเข้มงวดขึ้น โดยการดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายนี้ในระยะสั้นจะมุ่งเน้นระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ถี่ถ้วนมากขึ้น พร้อมลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนและชาวประมงในพื้นที่เกี่ยวกับความสำคัญของโลมาอิรวดีที่เหลืออยู่ เนื่องจากโลมาอิรวดีจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2546 ที่ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติด้วย หลังทั่วโลกพบประชากรโลมาอิรวดีในแหล่งน้ำจืดเหลือเพียง 5 แห่ง คือ อินเดีย 140 ตัว , อินโดนิเซีย 90 ตัว , เมียนมา 80 ตัว , กัมพูชา 90 ตัว และไทย 14 ตัว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ระยะยาว จำเป็นต้องสำรวจศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดในกลุ่มโลมาพื้นที่ทะเลสาบสงขลา รวมถึง การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบ การแก้ปัญหามลพิษ การตื้นเขิน พร้อมเร่งเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของโลมาอิรวดี สร้างศูนย์ช่วยเหลือและพยาบาลสัตว์ทะเล การเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือพร้อมอุปกรณ์การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับดูแลจัดการถิ่นที่อยู่ของโลมา และการจัดการสภาพแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา อย่างระมัดระวัง เพราะที่ผ่านมาความเคยชินจากวิถีการทำประมงของบางกลุ่มบุคคลกระทบการดำรงชีวิตของโลมาอิรวดี ทำให้ต้องหาแนวทางปรับความเข้าใจใหม่ให้เข้มงวดและเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อให้ประชากรโลมาอิรวดีไม่ลดลงแล้วเพิ่มขึ้นไม่ให้สูญหายไปจากประเทศไทยและโลกด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.