สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 4 พฤษภาคม 2565
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และการเคหะแห่งชาติ ร่วมกันจัดการน้ำเสียรวมของชุมชน โดยเฉพาะหมู่บ้าน พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้การบำบัดน้ำเสียเป็นตามมาตรฐานประเทศ
นายอรรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากชุมชน แต่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศมีเพียง 118 แห่งเท่านั้น สามารถบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 2.97 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยทั่วประเทศมี อปท. ทั้งหมด 7,774 แห่ง พบมีระบบบำบัดน้ำเสียเพียง 91 แห่ง หรือร้อยละ 1.17 จึงจำเป็นต้องบำบัดน้ำเสียจากต้นทาง ทำให้ คพ. และการเคหะแห่งชาติได้ร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้กับผู้บริหาร พนักงานการเคหะแห่งชาติ นิติบุคคล ชุมชนการเคหะและกรรมการชุมชนการเคหะทั่วประเทศ ด้วยการอบรมการเสริมสร้างศักยภาพการปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในการบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด ซึ่งการเคหะแห่งชาติ จะพัฒนาความเป็นอยู่และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีโครงการของการเคหะแห่งชาติประมาณ 807 โครงการ เป็นที่อยู่อาศัยและแก้ปัญหาชุมชนแออัดรวม 746,439 หน่วย และโครงการเคหะชุมชน บริการชุมชน ฟื้นฟูเมือง อาคารเช่า เอื้ออาทร และพิเศษบริการชุมชนมี 458,290 หน่วย รวมผู้อาศัย 3 - 4 คนต่อหน่วยทั้งนี้ อาคารที่อยู่อาศัยดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการเคหะแห่งชาติจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535 ทั้งการบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด และการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียด และรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2555 ออกตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า คพ.ได้เน้นอบรมเรื่องมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด และแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด // แนวทางการเก็บสถิติและข้อมูลซึ่งแสดงผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละวัน ตามแบบ ทส. 1 และการจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละเดือนตามแบบ ทส.2 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำ บันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2535 // ขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษการตรวจและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคาร และสุดท้าย บทลงโทษและการดำเนินการตามกฎหมาย โดย คพ.จะติดตามติดตามตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อไป