• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

คพ. เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรเกี่ยวกับการจัดการมลพิษเนื่องจากน้ำมันและการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบมาใช้แก้ปัญหาน้ำมันรั่วในประเทศและหาผู้กระทำผิด

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 เมษายน 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรเกี่ยวกับการจัดการมลพิษเนื่องจากน้ำมันและการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันดิน พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) มาใช้แก้ปัญหาน้ำมันรั่วในประเทศและหาผู้กระทำผิด

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางวิชาการ เรื่อง "การจัดการมลพิษเนื่องจากน้ำมันและการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลจะช่วยให้การจัดการปัญหามลพิษเห็นผลมากขึ้น พร้อมพัฒนาศักยภาพการจัดการน้ำมันด้านต่างๆในประเทศไทย แล้วนำไปประยุกต์ใช้ป้องกันการเกิดน้ำมันรั่วไหล เนื่องจากปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันลงทะเลส่งผลให้เกิดคราบน้ำมันบริเวณชายหาดและก้อนน้ำมันดินตรงแนวชายฝั่งขึ้น กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทรัพยากรทางทะเล ระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การประมง และการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องใช้เวลายาวนานฟื้นฟูให้กับคืนความสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถบ่งชี้แหล่งที่มาของการรั่วไหลหรือผู้ที่กระทำความผิดได้ ที่ผ่านมา คพ. ได้พัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) ถือเป็นเอกลักษณ์ของน้ำมันที่จะนำมาใช้บ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันได้ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยภายใต้กรอบมาตรฐานสากล ภาพรวมจากการสำรวจพบสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันในประเทศไทยระหว่างปี 2516 - 2564 เกิดจากอุบัติเหตุไม่ทราบสาเหตุสูงถึงร้อยละ 35 จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือในการบ่งชี้แหล่งที่มาของคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดิน เพื่อให้ผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการจ่ายค่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิม

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันได้ใช้การพิมพ์ลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนของคราบน้ำมันหรือก้อนน้ำมันกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องสงสัย โดยจะนำมาใช้บ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันของประเทศไทยต่อไป แล้วจะตรวจสอบจากตัวชี้วัดทางชีวภาพที่คงทนและไม่เสื่อมสลายไปกับกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อย้อนกลับไปบ่งชี้แหล่งที่มา ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถนำมาจัดการมลพิษทางน้ำจากการรั่วไหลของน้ำมัน คราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันดินที่เกิดในประเทศให้ลดน้อยลง พร้อมร่วมกับประเทศต่างๆควบคุมการลักลอบการระบายน้ำมันและคราบน้ำมันลงสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.