• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

“วราวุธ” นั่งหัวโต๊ะ ประชุม คกก.คุ้มครองเด็กฯ จ่อชง มาตรการสร้างสภาพแวดล้อมทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ต่อรัฐบาล 25 ต.ค. นี้

NBT CONNEXT  16 ตุลาคม 2567

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 มี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการเด็ก ผู้ทรงคุณวุฒิวิชาชีพ อาทิ สังคมสงเคราะห์ แพทย์ จิตวิทยา และกฎหมาย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ และผ่านระบบประชุมทางไกล (Zoom Meeting) 

นายวราวุธ กล่าวว่า คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติประชุมเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2568 โดยมีเรื่องสำคัญสืบเนื่อง และเรื่องเพื่อพิจารณา ที่ประชุมได้พูดถึงความก้าวหน้าของการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ... รวมไปถึงกฎหมายที่จะต้องเร่งดำเนินการด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกฝ่ายกำลังดำเนินการดูแลเด็กที่มีจำนวนน้อยลงทุกวัน ให้มีคุณภาพมากขึ้น แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในมาตรการและแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เป็นสิ่งที่สืบเนื่องจากการที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในการประชุมให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยของเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอย่างเช่นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาซ้ำขึ้นอีก ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มีการตั้งข้อสังเกตที่มีประโยชน์อย่างยิ่งและหลากหลาย ถึงมาตรการต่างๆนั้น ขอฝากให้ทุกหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทางฝ่ายเลขานุการนั้นเร่งดำเนินการ และทางกระทรวง พม. จะได้ดำเนินการนำข้อสรุปมาตรการทั้งหลาย นำเสนอต่อคณะทำงานที่รัฐบาล จัดตั้งเพื่อดำเนินมาตรการความปลอดภัยบนท้องถิ่น ซึ่งกำหนดประชุมวันที่ 25 ตุลาคม 2567   

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการที่ได้ประชุมกันในวันนี้ บวกกับข้อสังเกตทั้งหลายที่ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการแต่ละคนได้นำเสนอนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือโศกนาฏกรรมขึ้นซ้ำรอยกับอนาคตของเด็กไทยทุกๆ คน ที่นับวันจะมีจำนวนน้อยลง เราจะต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ ให้ดี ทั้งกาย ทั้งใจ และความปลอดภัยบนท้องถนนนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ และเป็นการประชุมที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการต่างๆนี้ จะได้รับการรับรองและเสนอต่อรัฐบาลต่อไป   

สำหรับมาตรการและแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก แบ่งเป็น 1) ด้านการฟื้นฟูเยียวยาแก่เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และครู โดยมีการวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระยะวิกฤต ระยะสั้น ระยะยาว มอบหมายทีมให้วางแผนและช่วยเหลือรายครัวเรือน (CM) ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพจิต การศึกษา รายได้ ที่อยู่อาศัย และการเข้าถึงบริการของรัฐ และ 2) ด้านการป้องกัน มีการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 2.1) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างสภาพแวดล้อมของถนนที่ปลอดภัย ผ่านกลไกศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก และส่งเสริม สนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการ และแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก 2.2) กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารโรงเรียนสถานศึกษามีส่วนร่วมในเรื่องการเดินทางไปทัศนศึกษานอกสถานที่ รวมทั้งการบังคับให้การปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งโรงเรียนควรมีแผนงานในเรื่องการจัดระบบและจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ 2.3) กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เพิ่มมาตรการควบคุมการดัดแปลงสภาพรถโดยผิดกฎหมาย มาตรการในการแก้ไขป้องกันการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มจากที่กฎหมาย มาตรการสำหรับรถรับจ้างสาธารณะ ทั้งรถรับส่งนักเรียน รถทัศนศึกษา


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.