• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

เปิดตัวผลงานนักวิจัย มทส. เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จาก ขยะโฟมขาว PS สู่ วัสดุก่อสร้างมวลเบา ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 มิถุนายน 2567

ที่มา : Salika.com (https://www.salika.co/2024/06/09/reduce-foam-box-waste-to-construction-material/)

ต้องยอมรับว่าในยุคนี้มีการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณขยะหลายประเภท ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความตระหนักร่วมกันในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลไกของเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย นี่เองที่จะมีส่วนในการช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะขยะโฟมที่ย่อยสลายยาก ซึ่งวันนี้เป็นที่น่ายินดีว่าขยะประเภทนี้ได้ถูกนำไปเพิ่มมูลค่าเป็น วัสดุก่อสร้างมวลเบา หรือวัสดุก่อสร้างเชิงวิศวกรรม ตอบสนองความต้องการใช้งาน เปิดกว้างรูปแบบสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมก่อสร้างยุคใหม่ ด้วยกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน ต้นทุนต่ำ วัตถุดิบหาได้ในประเทศ สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน โดยผลงานวิจัยนี้เป็นของ นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมแปลงขยะโฟมขาวให้เป็นทุน ร่วมแก้โจทย์การลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายช้าสร้างมลภาวะ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ขยะโฟมขาว PS สู่วัสดุก่อสร้างมวลเบา หรือวัสดุก่อสร้างเชิงวิศวกรรม ได้สำเร็จ

         รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการแถลงข่าวผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การเปลี่ยนขยะโฟมขาว PS..สู่ วัสดุก่อสร้างมวลเบา” ซึ่งเป็นผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. โดยการแถลงข่าวนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2567ที่จัดขึ้น ณ มทส. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัยได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การเปลี่ยนขยะโฟมขาว PS..สู่ วัสดุก่อสร้างมวลเบา” ว่า “จากสภาพปัญหาปัจจุบันของปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะขยะพลาสติก ขยะโฟมกล่องบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย หรือวิธีการกำจัดที่ต้องใช้มูลค่าสูง นวัตกรรมนี้ มุ่งไปที่ขยะโฟมขาวชนิดโฟม Polystyrene..(PS) ที่ถูกใช้เป็นวัสดุกันกระแทก และกล่องรักษาความเย็น ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” “ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดในการเปลี่ยนขยะโฟมขาว ให้เป็น วัสดุก่อสร้างมวลเบา ตามหลักการประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์มวลเบา (Lightweight..Product..Design Applications)..โดยนำวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม หรือบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปจากโฟมขาว ที่พบทั่วไป นำมาเพิ่มมูลค่า (Upcycling) ทำให้ได้ วัสดุมวลเบาเชิงวิศวกรรม (Lightweight Engineered) รูปแบบใหม่ ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง” “โดยนวัตกรรมนี้มีคุณสมบัติโดดเด่น คือ เป็นวัสดุมีน้ำหนักเบา สามารถปรับรูปแบบ ขนาด รูปร่าง ได้ตามความต้องการใช้งาน เช่น แผ่นตัวหนอนปูพื้นทางเดิน แผ่นปูผนังหินทรายประดิษฐ์สำหรับประดับตกแต่งอาคาร รวมถึงใช้เป็นวัสดุทดแทนกรวดทราย เพื่อใช้ในการหล่อผลิตภัณฑ์กระถางต้นไม้ที่มีน้ำหนักเบา เป็นต้น”


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.